จากภาคที่แล้ว ขอพูดถึงดนตรีแร็พต่อ
โครงสร้างของดนตรีแร็พแฝงอยู่ในดนตรีแจ๊ส ศิลปินที่น่าสนใจได้แก่ Oscar Brown Junior, Louise Armstrong หรือศิลปินบลูส์ตัวพ่ออย่าง John Lee Hocker
ว่าแล้วก็ขอเอาผลงานของ Oscar มาแปะให้ชมกัน เป็นมโนภาพว่าดนตรีแร็พที่แฝงด้วยแจ๊สมันเป็นเยี่ยงใด
ดูแล้วจะเห็นว่านี่แหละคือการถ่ายทอดเรื่องราวความเจ็บปวดของทาสผิวสีที่ถูกทารุณจากพวกผิวขาวที่กล้าเผยอว่าตนเป็นอารยชน แต่การกระทำนั้นหาใช่ผู้ศิวิไลซ์ซะที่ไหนกัน อันนี้เป็นเกร็ดเล็กๆ... ชาวแอฟริกันที่ไปเป็นทาสแก่ชาวผิวขาว จะถูกใช้งานสาหัสพอสมควร ทาสผิวสีเหล่านี้จะต้องทำงานโดยเฉลี่ยวันละ 14 ชม. เพราะพวกผิวขาวเชื่อว่าทาสผิวสีมีความทรหด เจ็บป่วยได้ยาก ในหน้าหนาว ต่อให้หนาวแค่ไหนทาสก้จะได้รับผ้าห่มเพียง 2 ผืนเท่านั้น แล้วแต่ว่าจะไปบริหารจัดการยังไงให้ตัวเองอยู่รอด แต่ก็มีนายจ้างหลายคนที่เลี้ยงทาสจนเกิดความเอ็นดูและผูกพันเข้า จึงลงเอยด้วยการกินอยู่ด้วยกันในที่สุด
ศิลปินที่มีผลงานอันเป็นรากฐานของดนตรีแร็พในปัจจุบันอย่างเด่นชัดคือ “Amiri Barak” ที่เคยถูกกล่าวไว้ในภาคที่แล้ว, กวีในกลุ่ม Beat Poet ส่วนวงแร็พวงแรกนั่นก็คือ The Last Poets ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1960 เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองของชาวผิวสี และเป็นศิลปินกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อดนตรีที่จะกลายเป็นดนตรีฮิพฮอพในปัจจุบัน...
หาที่นั่งให้พร้อม จับอะไรให้มั่น Stereosonic จะโล้ใบเรือเดินหน้าเต็มกำลังพาพวกเราเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ทวีปใหม่ ทวีปที่สุดท้ายแล้ว Christopher Columbus ก็ไม่ใช่ผู้ค้นพบคนแรก
ทวีปอเมริกา
ดนตรีแห่งเสียงพูดรอนแรมข้ามมาถึงอเมริกาพร้อมกับทาสผิวสีจากแอฟริกาตะวันตก โดยสืบสานจากการเต้นรำ เสียงกลอง และบทเพลงของกรีโอต์ กวีพื้นบ้านแห่งแอฟริกาตะวันตก ที่ขับขานการเดินทางอันทุกข์ทรมานของทาสผู้รอดชีวิตมาจนถึงอเมริกา การล้อมวงเต้นตามจังหวะดนตรีและเสียงร้องในยุคแรกมีส่วนประกอบคล้ายดนตรีแอฟริกา เช่น การร้องเรียก การขานรับ และการด้นสด การดวลคำพูด รวมทั้งบทสวดสรรเสริญวีรบุรุษผิวสีที่สามารถเอาชนะคนขาว เหล่านี้ถือเป็นยุทธวิธีในการปลุกใจ ทำให้ฮึกเหิมช่วยให้จิตใจแข็งแกร่ง
ดนตรีที่สืบสานจากศิลปวัฒนธรรมของชาวผิวสี มีอะไรกันบ้าง ถ้าอยากรู้ ขอเชิญก้าวลงจากเรือแล้วเดินเท้ามาตามถนนสายดนตรีบนดินแดนเสรีกัน
ยุคบุกเบิกดนตรีแอฟริกัน – อเมริกัน : ตรงนี้ขออนุญาตไม่ลงรายละเอียด แต่จะบอกว่ามีดนตรีแนวใดบ้าง เพราะยังไม่ได้ทำความเข้าใจลึกซึ้ง และความรู้ยังไม่มากพอที่จะตกตะกอน... ดนตรีแอฟริกัน – อเมริกันที่เป็นแม่แบบของดนตรีในปัจจุบัน บ้างก็แยกแตกสาแหรกออกไป บ้างก็แฝงอยู่ในดนตรีแนวใหม่ ก็มี
- ดนตรียุคค้าทาส
- Spiritual
- Rural Blues
- Blues
- วงดุริยางค์
- Ragtime
- Boogie Woogie
- New Orleans Jazz
- โวเดอร์วิลล์ บลูส์
- Big Band (โปรดอย่าเห็น ‘d’ เป็น ‘d’)
- Gospel
ดนตรียุคค้าทาส – ทาสผิวสีได้รวมวัฒนธรรมทางดนตรีของชาวแอฟริกันทั้งเพลงที่ร้องขณะทำงาน เพลงกู่ในไร่ เพลงสรรเสริญเทพเจ้า เพลงล่าสัตว์และเพลงเต้นรำ ซึ่งทั้งหมดคือวิถีชีวิตของทาสในยุคนั้น... จังหวะกลองแบบดั้งเดิมดำเนินพิธีรับขวัญทารกในแคว้นกาซามองซ์ของเซเนกัลผนวกกับจังหวะทรงพลังของแอฟริกาตะวันตกที่รอดพ้นยุคค้าทาส ได้กลายเป็นต้นรากของ แจ๊ส ซัลซา ร็อพ และ ฮิพฮอพเป็นอาทิ
ส่วนในยุคถัดมาเมื่อขนบดนตรีพื้นบ้านซับซ้อน มีลูกเล่นมากขึ้นจึงพัฒนาการเป็นดนตรีแนวใหม่ๆ แนวที่น่าสนใจและพบได้ในปัจจุบันก็มี
Blues – ความทุกข์เข็ญจากชีวิตได้ถือกำเนิดเพลงบลูส์ขึ้น ซึ่งรวมจังหวะของเพลงกู่ในไร่และเพลงที่ร้องขณะทำงานเข้ากับเครื่องดนตรีอย่างกีต้าร์และเปียโน
Jazz – การลัดจังหวะและการด้นสดในเพลงแร็กไทม์และบลูส์ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นแจ๊ส... แจ๊สเป็นดนตรีเต้นรำที่มีส่วนผสมหลากหลาย ก่อนจะปรับทำนอง คอร์ดและจังหวะจนต่างจากเดิม ส่วนดนตรีแจ๊สแบบสะวิงหรือที่เราเรียกกันว่า “สะวิงแจ๊ส” เกิดราวๆทศวรรษ 1920 - 1930 ครั้งนั้นดนตรีแจ๊สเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมในสังคมชั้นสูงเพราะสมัยนั้นยังมีการเหยียดสีผิวอยู่ แต่ดนตรีแจ๊สถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผู้ชื่นชอบเสียงเพลงที่รักสนุก เรื่องของแจ๊สยังมีรายละเอียดน่าสนใจอีกเยอะ แต่ฝอยในนี้คงจะยาวหลายวาหลายศอก
Rhythm & Blues – ชื่อเล่นที่เราเรียกกันติดปากคือ R&B นั่นเอง ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ดนตรีเต้นรำริทึมแอนด์บลูส์ที่เป็นเสียงร้องได้แตกหน่อแยกตัวจากดนตรีสะวิงและบลูส์สิบสองห้อง สมัยนู้นพี่ Billboard ที่ผงาดง้ำค้ำแวดวงดนตรีอเมริกันมานานถึงกับขานดนตรีริทึมแอนด์บลูส์แทนดนตรีคนผิวสีกันทีเดียวเชียว
Soul – หลายคนที่ชื่นชอบศิลปิน vocalist คงจะรู้จักดี โซลเป็นดนตรีที่ใช้ลักษณะเพลงกอสเปลเพื่อสื่อเนื้อหาสร้างจิตสำนึกทางสังคมผสมผสานดนตรี R&B ต่อมาค่ายเพลงก็เริ่มผุดขึ้นในเมืองต่างๆเช่น Detroit, Memphis และ Philadelphia
Rock n’ Roll - ศิลปินอาร์แอนด์บีได้ผสมเพลงกอสเปล พ็อพ และคันทรีเข้าไป แล้วก็ป่าวประกาศ นำเสนอในกลุ่มวัยรุ่นขาโจ๋ในชื่อ “ร็อค แอนด์ โรล” ก่อนจะถูกนักร้องผิวขาวนำไปร้องรำทำเพลง แย่งชิงเวทีไปในภายหลัง ในบรรดาศิลปินร็อค แอนด์ โรล ชื่อก้องโลกที่เราๆคุ้นเคยกันคงหนีไม่พ้น ราชา Elvis Presley และ Jimi Hendrix
Electronica - แยกมาจากฮิพฮอพ จากที่ MC เป็นศิลปินคู่กับฮิพฮอพ อิเล็คทรอนิก้ากลับมี DJ เป็นตัวชูโรงแทน เครื่องดนตรีที่ใช้หลักๆมีคอมพิวเตอร์ กลองสังเคราะห์ และซินธีไซเซอร์จากยุโรป ส่วนซาวนด์รับเอาดนตรีเฮ้าส์อเมริกันจากชิคาโก้กับเทคโนจากดีทรอยท์ มาก่อนจะแตกเป็นแนวอื่นๆมากมาย อิเล็คทรอนิก้าจะกลับมาเป็นช่วงๆ ปัจจุบันก็อย่างที่เห็นว่าตอนนี้อิเล็คทรอนิก้ากำลังครองตลาดเมนสตรีมอยู่ทั้งฝั่งอเมริกาและยุโรป
Hip Hop – ในที่สุดก็มาถึงไฮท์ไลท์จนได้ แม้หลายคนกระแดะเรียกฮิพฮอพเป็นของต่ำ หรือขยะ แต่ความเป็นมาน่าสนใจไม่แพ้ดนตรีแนวอื่นๆแม้แต่น้อย
ฮิพฮอพเป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากการผสมผสานกันของดนตรี การเต้น และกราฟฟิตี้ เริ่มที่ South Bronx ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิวยอร์ก ในทศวรรษ 1970 โดยรับอิทธิพลวัฒนธรรมแอฟโฟรแคริบเบียน... ดนตรีฮิพฮอพจะมีดีเจหนึ่งคนซึ่งเป็นผู้ชายเสมอคอยเล่นแผ่นเสียงบน Turntable และ เอ็มซี (Master of Ceremonics) จะเป็นชายหรือหญิงก็ได้อีกหนึ่งคนทำหน้าที่ดำเนินรายการ ดีเจจะ scratch แผ่นเสียงกลับไปกลับมาใต้หัวเข็มให้เกิดเสียง และเลือกท่อนจังหวะที่ร้อนแรงที่สุด เพื่อเล่น breakout ให้คนเต้นรำ ขณะที่เอ็มซีจะแร็พคลอเพื่อสร้างสีสัน โดยหาวิธีด้นสดให้ดีกว่าคนอื่น แต่การแร็พในฮิพฮอพจะซอฟท์กว่าในดนตรีแร็พ
ตอนแรกความสนใจของฮิพฮอพไม่ได้อยู่ที่เอ็มซี่ แต่อยู่ที่นักเต้นหรือ B-boys การเต้นในฮิพฮอพสามท่าหลักๆคือ “ล็อก” “พ็อพ” และ “เบรก” ลองหาดูได้ในยูทูบ... ฮิพฮอพเป็นการแสดงออกถึงตัวตน ปลุกอารมณ์ให้คึกคัก จึงไม่แปลกที่ฮิพฮอพจะเป็นขวัญใจวัยรุ่น ที่พยายามจะหัดแรง พยายามพรีเซ้นต์ตัวเองกับโลกใบนี้ แล้วเชื่อมั้ยล่ะว่าเคยถูกหาว่าจะหายไปจากวงการดนตรีเลยทีเดียว แต่ฮิพฮอพกลับอยู่คู่สังคมอเมริกันมากว่า 30 ปีแล้ว และแพร่หลายไปทั่วโลก โดยอเมริกาเป็นตลาดฮิพฮอพอันดับ 1 ของโลก ตามมาด้วยฝรั่งเศสซึ่งเป็นอันดับ 2
ขอบคุณทุกคนอีกครั้งที่ติดตามอ่าน การเดินทางสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ตีตั๋วขึ้นเครื่องเจอกันที่สุวรรณภูมิค่ะ
_________________
