
Vampillia ถือเป็นวงสุดแปลกจากญี่ปุ่นวงหนึ่งที่ผมได้รู้จักในปีนี้ และอัลบั้มนี้ก็เป็นอัลบั้มที่ผมได้ฟังอีกด้วย วงนี้ถือเป็นการรวมดาวจากหลายแขนงดนตรีในญี่ปุ่นโดยแท้จริง โดนสมาชิกนั้นคาดว่าจะมีถึงสิบคน หรืออาจจะมากกว่านั้น เพราะอาจจะมีศิลปินคนอื่นๆมาร่วมลงขันด้วย อาทิ น้าโยชิดะ ทัตสึยะ มือกลองชั้นครูที่ได้มาแสดงสดในบ้านเราเมื่อปลายปีก่อน รวมถึงศิลปินชั้นนำจากฝั่งตะวันตกอย่างซือเจ๊จาร์โบ ซึ่งได้มาร่วมลงเสียงอันโหยหวนในอัลบั้มนี้ด้วย สำหรับสมาชิกหลักนั้นก็มีสองมือกลอง โดยคนหนึ่งเป็นอดีตวง Boredoms และอีกคนคือมือกลองจาก World’s End Girlfriend ซึ่งเป็นหนึ่งวงโพสร็อคระดับแนวหน้าเช่นเดียวกับ Mono ส่วนที่เหลือก็จะเป็น สามกระบอกเสียง กีต้าร์คู่ ไวโอลินคู่ เบส วิโอลา เปียโน และดีเจ แต่ในอัลบั้มนี้มีความแตกต่างไปจากสิ่งที่ทางวงได้ทำมาก่อนหน้านี้อยู่มากทีเดียว
งานชุดนี้มีเพียงสองเพลงเท่านั้นคือ Sea และ Land ซึ่งเป็นสองเพลงที่ยาวพอสมควร โดยจะออกเป็นเพลงละราวๆ 25 นาที โดยที่ทั้งสองเพลงนี้จะให้ความรู้สึกราวกับเป็น “โลกคู่ขนาน” ของกันและกันอยู่ แล้ว ณ จุดหนึ่ง ทั้งสองเพลงนี้เองก็ค่อยๆเดินทางมาบรรจบกัน แล้วจึงแยกย้ายสู่เส้นทางของตนเอง
Sea - ในช่วงแรกนั่นจะได้อิทธิพลของดนตรีคลาสสิกผสานกับแอมเบียนท์ โดยเริ่มจาก Soundscapes และเสียงเบสที่ลากยาวมาพร้อมกับความเวิ้งว้างและหงอยเหงา และมีเสียงพูดของจาร์โบ8jอยๆแทรกเข้ามาเป็นช่วงๆ และเมโลดี้ของไวโอลิน รวมถึงเปียโนก็ค่อยๆแทรกเข้ามาเบาๆ แล้วเข้าสู่ช่วง “เดี่ยว” เปียโน ซึ่งบรรเลงด้วยโน้ตและคอร์ดง่ายๆ แลเป็นมินิมัลที่ดูหม่นหมองพอควร และอิทธิพลโดรนก็เข้ามาแทนที่ รวมถึงการที่ค่อยๆเพิ่มเสียงขึ้นมาเรื่อยๆจนถึงพีคสูงสุด โดยมีนอยส์แทรกเข้ามานิดหน่อย แล้วค่อยขึ้นเป็นทวินโดรนริฟฟ์ที่หนักหน่วงและกดดันในบรรยากาศเดียวกับ Sunn O))) (โดยสมาชิกจาก Inswarm) แต่จะหลอนกว่าตรงที่มีการร้องอิมโพรไวส์อันโหยหวนของจาร์โบเข้ามาด้วย และภายหลัง ทั้งไวโอลิน เปียโน ค่อยๆขึ้นมาสอดประสานเป็นท่วงทำนองที่ไพเราะเหนือความคาดหมาย รวมถึงนอยส์หวีดๆแหลมๆที่คอยรองพื้นเป็นช่วงๆ โดย น้ามาซามิ อาคิตะ หรือ Merzbow นั่นเอง แต่ตอนท้ายๆของเพลงมาหักมุมตรงที่เครื่องดนตรีอื่นๆหยุดแล้วให้เปียโนบรรเลงเบาๆไปพร้อมๆกับเสียงพูดกระซิบไปจนจบ
Land – เพลงนี้เปรียบเสมือนอีกด้านหนึ่งของ Sea ก็น่าจะเป็นได้ แต่ในแง่ของดนตรีคลาสสิกนั้นอาจจะมากกว่าอยู่พอสมควร รวมถึงโดรนด้วย และ Merzbow ก็จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเพลงนี้โดยที่แกจะเติมนอยส์หลอนๆเบาๆคอยรองพื้นตลอด เครื่องสายจะมีช่วงที่หยุดแล้วก็ปล่อยให้เปียโนบรรเลงบ้าง โดยท่วงทำนองของเปียโนในเพลงนี้จะมีความซับซ้อนกว่าเพลงแรก และช่วงที่เพิ่มเสียงก็มีความดุดันมากกว่าอีกด้วย และก็มาต่อด้วยทวินโดรนริฟฟ์เช่นเดียวกับเพลงแรก ซึ่งทำให้ผมคิดได้ว่า “จุดตัด” ของทั้งสองเพลงนี้ทวินโดรนริฟฟ์ตอนกลางเพลงนี้เอง แต่นอยส์ของ Merzbow ก็ทวีความปั่นประสาทยิ่งขึ้น รวมถึงการอิมโพรไวส์ของจาร์โบก็โหยหวนและหลอกหลอนยิ่งขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะสังเกตได้จากอิทธิพลของแนวเพลงที่หลากหลายมากขึ้นในเพลงนี้ด้วยโดยเฉพาะทางโพสร็อค และชูเกซนั้นจะมีความชัดเจนมากเป็นพิเศษ และยิ่งฟังไป เพลงนี้ก็ยิ่งเพิ่มความหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงพีคสูงสุดในนาทีท้ายๆแล้วค่อยๆเฟดเอาท์ลง แล้วจบด้วยการบรรเลงเดี่ยวเปียโดนเช่นเดียวกับเพลงแรก
อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งสองเพลงในอัลบั้มนี้เปรียบได้กับการนำพาเราไปสู่โลกคู่ขนาน โดยไปบรรจบกันที่จบกลางระหว่างทาง แล้วจึงแยกจากกันคนละทาง โดยเพลงแรกจะเน้นงานที่แฝงไปด้วยความนุ่มนวลเป็นหลัก (พลิ้วไหวดุจสายน้ำ) และเพลงหลังจะเป็นงานที่ซับซ้อนและหนักหน่วงกว่า (หนักแน่นดุจหินผา) โดยมีมีจุดเหมือนหรือ “จุดตัด” (อย่างที่ทางวงได้อธิบายไว้ในเว็บของตัวเอง) คือท่อนริฟฟ์ในช่วงกลางเพลง และทั้งสองเพลงนีก็ให้ความรู้สึกว่าเป็น “ฟิล์มสกอร์” เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ ทางวงอาจจะฝากให้เราไปฟังและจินตนาการกันว่าจะเป็นแบบไหน อัลบั้มนี้ช่างเป็นอัลบั้มที่ชวนค้นหาเสียจริง...
เพลงตัวอย่าง: Sea