
http://www.facebook.com/HysteriaCulture
http://hysteriaculture.wordpress.com/2014/03/27/back-in-the-day-putumayo-rhythmblues-rbsoul-100-55/
Putumayo : Rhythm&Blues : R&B/Soul (100% = 5/5)
หนึ่งในซีรี่ยส์สุดโปรดตลอดกาลของค่าย Putumayo - ค่ายเพลงเวิลด์มิวสิคที่เก๋ไก๋น่ารักที่สุดในโลก - ที่ดิฉันหาช่องทางจะเขียนรีวิวมากว่าสามปีแล้วสำหรับอัลบั้มนี้แต่ก็ไม่มีโอกาสเสียที วันนี้สบโอกาสใกล้จะอำลาธีม Summer In Abstract ของเดือนมีนาคม 2014ทางเพจHysteriaจึงสามารถหาเรื่อง เอ๊ย สบโอกาสที่จะหาช่องทางเสียบอัลบั้มดีๆในวันวานที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกที่เปี่ยมพลังแถมหัวใจพองโตจากความสง่างามของศิลปะดนตรีดีๆ ซึ่งก็คงไม่มีอัลบั้มใดเหมาะไปกว่าซีรี่ยส์ Rhythm&Blues ของทาง Putumayo ชุดนี้
ด้วยความที่ส่วนตัวแม้จะชอบฟังเพลง พ็อพ เป็นหลักแต่ก็มีความฝักใฝ่และรักใคร่ในงานดนตรี อาร์แอนด์บี ผิวสีไม่น้อย อาจจะแปลกที่ดิฉันไม่ค่อยถูกชะตากับงานอาร์แอนด์บีหลังยุคมิลเลเนี่ยมที่ใส่อิทธิพลของงานฮิพฮอพและแร็พเข้ามาในระดับที่สูงยิ่งในยุคโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คนี้ยิ่งแล้วใหญ่ สารภาพตามตรงชนิดที่ไม่กลัวใครหน้าไหนโจมตีว่าหัวโบราณเลยว่า เต็มกลืน กับงานพ็อพอาร์แอนด์บีและอาร์แอนด์บีพ็อพในสมัยนี้ที่ฟิวชั่นกัยพวกEDMไม่ก็ยูโรบีทชืดๆเสี่ยวโหลเกลื่อนกลาดชนิดที่เชื่อว่าดวงวิญญาณของปรมาจารย์และตำนานอาร์แอนด์บีทั้งหลายถ้าได้รับรู้ถึงความน่าอดสูนี่คงอดน้ำตาหลั่งน้ำตาไว้อาลัยยันถึงเวลาภพหน้าไม่ได้
อัลบั้ม Rhythm&Blues ของทางPutumayoจึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคอเดียวกันที่ในบางทีอยากจะหวนกลับสู่จิตวิญญาณและล้างหูด้วยดนตรีคุณภาพจากรากเหง้าแท้ๆ ลืมไปได้เลยกับงานอิเล็คโทรนิคชืดๆไร้ชีวิตชีวาไม่ก็ฮิพฮอพแร็พดำทะมึนอึดอัดน่ารำคาญเรามาจับมือแล้วร่วมดื่มด่ำกับงานดนตรี ริธึ่มแอนด์บลูส์ หรือ อาร์แอนด์บี แท้ๆจากช่วงยุค60s-70sซึ่งเป็นยุครุ่งโรจน์ของดนตรีแขนงนี้หลังจากถือกำเนิดและได้รับการยอมรับในแวดวงเมนทสตรีมเมื่อสมัย50sด้วยการผนวกเอาจิตวิญญาณของดนตรีแนวบลูส์,แจ๊ซซ์และกอสเพลเข้าด้วยกันก่อนที่จะตบเติมอิทธิพลของโซลและฟั้งค์เสริมเข้ามาในช่วงทศวรรษ70s งานดนตรีในแบบที่สาวกค่ายโมทาวน์จะต้องรักและบูชาขึ้นหิ้งกับดนณีอาร์แอนด์บีจากยุคคลาสสิคจริงๆในอัลบั้ม Rhythm&Blues ชุดนี้
ถ้าจะหาตัวแทนที่ดีที่สุดสำหรับเปิดอัลบั้มและบ่งบอกภาพรวมของนิยามคำว่า Rhythm&Blues ได้ครบที่สุดดิฉันเห็นว่าไม่มีแทร็คไหนจะสมบูรณ์ไปกว่า Ive Never Found A Man To Love (5/5) โดย Lavelle White ซึ่งสะท้อนมนตร์เสน่ห์ของดนตรีอาร์แอนด์บีอันหอมหวานแห่งยุคโมทาวน์ออกมาได้อย่างครบถ้วน เสียงโซลสุดทรงพลังและดนตรีเรโทรอาร์แอนด์บีหรูหราแบบงานอาร์แอนด์บีแท้ๆที่ยังสะกดคนฟังได้จวบจนวินาทีนี้ แทร็คถัดมา Til Your Fool Comes Home (5/5) โดย เจมส์ ฮันเตอร์ ที่กลิ่นอายของดนตรีสวิงและแจ๊ซซ์ประสานเข้ากับบลูส์ได้ชนิดลงตัว เชื่อว่าหลายคนฟังแล้วคงคิดถึงงานของ สตีวี่ วอนเดอร์ Sweet Feeling (4.5/5) โดย Cracked Ice ก็เป็นแทร็คที่เป็นของหวานรับประทานง่ายแทบจะที่สุดของอัลบั้มนี้ ใครชอบอาร์แอนด์บีโซลก่อนยุคคอนเทมโพรารี่ย์อาร์แอนด์บีน่าจะปลื้มเพลงนี้ได้ไม่ยาก ส่วนตัวคิดว่าพ็อพและหวานหูฟังง่ายที่สุดในอัลบั้มนี้แล้ว ต่อด้วย Who Knows (4.5/5) โดย The Quantic Soul Orchestra กับ Kabir เริ่มเพลงมากลิ่นอายของบลูส์เข้มก็ส่งกลิ่นตลบอบอวนดีที่ยังหยอดความหวานแบบสแตนดาร์ดแจ๊ซซ์ลงไปช่วยคุมทิศทางทำให้ไม่ดิบจนหอบเกินไป Wang Dang Doodle (4.5/5) เพลงชื่อแปลกๆที่เป็นการดวลกันระหว่าง Sam Moore,Keb Mo และ Angie Stone เป็นงานบลูส์ดิบๆฟาดฟันกับอคูสติคเชิงกอสเพลสไตล์งานผิวสีแถบหลุยส์เซียน่า ลูกเล่นข้นขลั่กจนเข้าขั้นโหด โชคดีที่ได้ Put Me Down Easy (4.5/5) ของ Catherine Russell มาล้างหูในแทรัดถัดมาได้อย่างทันท่วงทีอีกหนึ่งอาร์แอนด์บีโซลละเมียดละไมกึ่งบัลลาดเพราะๆที่น่าจะถูกใจผู้ฟังหลายๆคน A Mothers Love (5/5) อีกหนึ่งเพลงที่โดนจริตเป็นการส่วนตัวจิตวิญญาณของดนตรีโอลด์สคูลแบบอาร์แอนด์บีและโซลแท้ๆหอมกรุ่นมากๆ ปิดอัลบั้มด้วย River Is Waiting (4.5/5) โดย Irma Thomas กับ Henry Butler งานบัลลาดปิดอัลบั้มเพราะๆที่ฟังแล้วอดอมยิ้มตามไปกับความสุนทรีย์ของดนตรีและภาคเนื้อหาสวยๆไม่ได้
ช่วงนี้ถ้าใครรู้สึกแย่ๆอยากจะผ่อนคลายดิฉันก็ขอแนะนำอัลบั้ม Rhythym&Blues ชุดนี้ของ Putumayo นะคะ โดยส่วนตัวแล้วเป็นอัลบั้มที่หยิบมาฟังทีไรก็จะเกิดความรู้สึกดีๆตามมาทุกครั้ง เหมาะสำหรับที่จะหยิบมาฟังในยามที่เราต้องการจะปลีกวิเวกหลุดพ้นจากความทุกข์และทุกสรรพสิ่งรอบตัวโดยแท้