รักแห่งสยาม : งดงามและเจ็บปวด โดย ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม
(โดย **คุณ ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี 22 พฤศจิกายน 2550 11:43 น. )
(SPOILER: บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง)
คนทำหนังหลายคนใช้เวลานานกว่าจะเป็นที่จดจำจากบุคลิกในเนื้องานและความช่ำชองของพวกเขาเอง เมื่อมาถึงจุดที่ได้รับการยกย่องในการทำงาน ความชัดเจนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะปรากฏชัดขึ้น
ผู้กำกับบางคนเป็นเจ้าแห่งเทคนิค ในขณะที่บางคนเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจ บางคนทำหนังออกมาอย่างเรียบง่าย แต่ก็เข้าใจชีวิตอย่างถ่องแท้ บางคนเดินเข้าหาอภิปรัชญาที่ไม่มีใครสามารถเข้าใจ หรือบางคนอาจจะเชี่ยวชาญในการเล่นกับอารมณ์คนดู ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง หรือทุกอย่างรวมกัน
ด้วยผลงานเพียง 3 เรื่อง (และอีกจำนวนหนึ่งที่เขาทำในขณะเป็นนักศึกษาวิชาภาพยนตร์) คุณชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ว่า ขอเพียงเวลาสักเล็กน้อยในการบ่มเพาะตัวเองเท่านั้น - เขาก็จะสามารถเป็นได้ทุกอย่างที่กล่าวมา
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทุกคนได้รับชม รักแห่งสยาม ผลงานชิ้นใหม่ของเขาจบแล้ว คงจะไม่มีท่าทีคัดค้าน หากจะบอกว่านี่คือคนทำหนังไทยอีกคนหนึ่งที่คนไทยควรภาคภูมิใจ
รักแห่งสยาม มีโครงสร้างคล้ายๆ กับหนังรักทั่วๆ ไป แต่หนังก็พาตัวเองให้ไปไกลกว่านั้นมาก กล่าวคือ หนังไม่ได้เพียงบอกเล่าเรื่องราวความรักของวัยรุ่นแค่ชั้นเดียว หากเต็มไปด้วยเงื่อนไขรายรอบตัวละครหลักที่ซับซ้อนตัวละครมีความชัดเจนมีมิติมีความลึกของบุคลิคและยังพิพาทถึงสถาบันสังคม ทั้งยังไม่มีการมาชี้หน้าสอนคนดู แต่กลับคลายปมเหล่านั้นอย่างเต็มไปด้วยชั้นเชิง
หนังเริ่มต้นด้วยเรื่องราวในวัยเด็กของ มิว และ โต้ง เด็กชายที่บ้านอยู่ตรงกันข้ามกัน มิว (วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) อาศัยอยู่กับอาม่าที่ไม่ยอมย้ายตามครอบครัวไปต่างจังหวัด ในขณะที่บ้านของโต้ง (มาริโอ เมาเร่อ) อบอุ่นและสมบูรณ์ อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพ่อ แม่ พี่สาวและตัวโต้งเอง
เด็กทั้งสองผูกพันและสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว แต่จุดหักเหก็เกิดขึ้น และเปลี่ยงแปลงชีวิตทั้งสองคนไปตลอดกาล แตง-พี่สาวของโต้งหายตัวไปอย่างลึกลับ ขณะไปเที่ยวเชียงใหม่กับเพื่อนๆ และพ่อก็โทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง ทุกคนเจ็บปวดจนกว่าจะอยู่ในบ้านหลังเดิมได้ จึงตัดสินใจย้ายออก พร้อมๆ กับในเวลาเดียวกันนั้น อาม่าของมิวก็จากโลกนี้ไป ทิ้งเด็กชายให้ใช้ชีวิตเพียงลำพัง
ไม่กี่ปีต่อมา มิว และโต้ง เจอกันโดยบังเอิญที่สยามสแควร์ มิวมีวงดนตรีที่กำลังจะได้ออกอัลบั้มกับค่ายเทปชื่อดัง ส่วนโต้งก็เหมือนเด็ก ม.6 ทั่วๆ ไป มีเพื่อน ไปเรียนพิเศษ และมีแฟน ความห่างเหินไม่มีผลอะไรกับเด็กหนุ่มทั้งสองคน เมื่อได้เจอกันอีกครั้ง ทั้งคู่ก็สนิทกันเหมือนแต่ก่อน
แต่ไม่นานนัก หนังก็เผยให้เห็นว่าบาดแผลบางอย่างในช่วงต้นเรื่องไม่ได้หายไป ครอบครัวของโต้งบอบช้ำจากความสูญเสียในครั้งนั้น และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น พ่อกลายเป็นคนที่ติดสุราเรื้อรัง และแม่ก็หวาดระวังไปเสียทุกอย่าง เพราะเธอไม่อยากทำผิดพลาดอะไรอีก
มิวเป็นเด็กหนุ่มที่ปิดตัวเงียบ บ่อยครั้งที่เราเห็นว่าเขาร่าเริงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาอยู่อย่างโดดเดี่ยวมานานเกินไป และอีกส่วนหนึ่งเขาเองก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่เขารู้สึกกับโต้ง
ตึกแถวที่เคยเป็นบ้านของโต้งเมื่อตอนเด็กๆ มีครอบครัวคนจีนย้ายเข้ามาอาศัย และหญิง (กัญญา รัตนเพชร์) - ลูกสาวของบ้านนั้นก็มาตกหลุมรักมิวอย่างหัวปักหัวปำ เธอคลั่งไคล้มิวเหมือนเด็กสาวชื่นชอบนักร้องวัยรุ่น ทั้งๆ ที่ฝ่ายชายแสดงท่าทีเมินเฉยกับเธอตลอดมา
จุดขัดแย้งเกิดขึ้นอีกครั้งในขณะที่ปมที่ผูกไว้ตั้งแต่ต้นยังไม่ได้รับการสะสาง มันมาพร้อมกับหญิงสาวที่ชื่อ จูน (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) เจ้าหน้าที่ประสานงานของค่ายเทปที่มาทำหน้าตาดูแลวงดนตรีของมิว เธอหน้าตาคล้ายกับแตง - พี่สาวที่หายตัวไปของโต้ง - เหมือนกับเป็นคนๆ เดียวกัน มิวพาโต้งและแม่ของโต้งมาพบจูน ทันทีที่แม่ของโต้งเห็น เธอตัดสินใจว่าจ้างจูนให้ปลอมตัวเป็นลูกสาวของตนเอง เพื่อหวังว่าอาการป่วยของสามีจะดีขึ้น
ราวกับว่าปมปัญหาแค่นั้นยังไม่พอ ถัดจากนั้นโต้งก็ตัดสินใจถอยตัวออกจากแฟนสาว (ที่เพื่อนๆ ให้คำจำกัดความว่า เขาน่ะสวยเลือกได้ แต่เขาเลือกมึง) และเบนความสนใจไปที่มิว
แม้ในช่วงเวลาที่ความขัดแย้งขมวดเกลียวเข้าด้วยกันจะมีตัวละครอย่างน้อยๆ 5-6 ตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หนังก็เฉลี่ยความนึกคิด และพื้นที่ให้แต่ละตัวอย่างสมน้ำสมเนื้อ หย่อนและตึงในระดับพอดี หลายฉากหลายตอนที่หนังพาตัวเองเข้าไปเฉียดใกล้ความซ้ำซาก แต่ผู้กำกับก็ดึงกลับมาให้เหตุการณ์ดำเนินไปในวิถีทางที่มันควรจะเป็นจริงๆ
ตัวอย่างของการตบฉากบีบคั้นให้อยู่ในระดับพอดี มีอยู่หลายตอนด้วยกัน หนึ่งในนั้น คือ ตอนที่ คุณสุนีย์ (สินจัย เปล่งพานิช) แม่ของโต้งคอยลูกชายกลับบ้าน เมื่อเห็นว่าเวลาล่วงเลยมานานแล้ว เธอจึงขับรถออกไปตามหา ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะไปตามหาที่ไหน
เธอเคว้งคว้างไปตามที่ต่างๆ อารมณ์จวนจะระเบิดอยู่ทุกเมื่อ แต่ทันทีที่รู้ว่าลูกกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย และนอนหลับอยู่บนเตียง สิ่งที่เธอทำก็คือ วางโทรศัพท์มือถือของลูก ที่ตนพกไปด้วย- อย่างเบามือ และยับยั้งตัวเองไม่ให้ปล่อยความคับแค้นใจกับลูก
หรือในอีกฉากหนึ่งที่สุนีย์ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างลูกชาย และเพื่อนสนิท เธอขับรถไปหามิวในวันรุ่งขึ้น และพยายามบอกให้อีกฝ่ายเข้าใจ ทั้งคำพูดและการแสดง เสียดแทงเข้าไปในใจของคนดู ทั้งๆ ที่ไม่มีช่วงไหนเลยที่เธอระเบิดอารมณ์ออกมา
รายละเอียดที่หนังวางไว้อย่างมีชั้นเชิง ทำให้คนดูได้เห็นและเข้าใจสุนีย์มากกว่าจะมองเธอเป็นตัวร้าย เธอพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ครอบครัวของเธออยู่กันอย่างปกติ เหมือนคนที่ประคับประคองแก้วที่แตกร้าวอยู่แล้ว ไม่ให้ตกหล่นหรือแตกกระจายมากไปกว่านี้ แน่นอน หลายครั้งที่แก้วนั้นบาดมือเธอ
ในส่วนของตัวละครวัยรุ่น หนังก็คานน้ำหนักได้เท่าๆ กัน การคลี่คลายของตัวละครหลักทั้ง 4 ตัว ได้แก่ มิว โต้ง หญิง และโดนัท (อธิชา พงศ์ศิลป์พิพัฒน์) - แฟนสาวของโต้ง ลงเอยด้วยความผิดหวัง แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องเจ็บปวดที่จะต้องเก็บมาทำร้ายตัวเอง ตรงกันข้าม เด็กๆ ทุกคนกลับรู้ดีว่า พวกเขาจะก้าวผ่านมันไปได้ในที่สุด
บทสรุปของหนังบอกเล่าอย่างแกนๆ และไม่ได้รวบยอดชัดเจนว่าตัวละครทุกตัวจะผ่านอุปสรรคของตัวเองไปได้ เหนือสิ่งอื่นใด หนังพยายามจะบอกใบ้กับคนดูว่า ไม่ว่าเราจะเจอกับเรื่องร้ายๆ มามากมายแค่ไหน ขอแค่ยังมีความรักและความหวัง ปัญหาต่างๆ ก็คงไม่สาหัสเกินไปนัก
ยังมีรายละเอียดและลูกเล่นอีกมากมายที่แสดงให้เห็นถึงความแยบยลในการเขียนบทและกำกับของคุณชูเกียรติ และเชื่อว่าผู้ชมจะได้รับอรรถรสในส่วนนี้อย่างเต็มที่
คงจะไม่มากเกินไปนอกจากจะบอกว่ามันเป็นหนังไทยที่คนไทยควรภูมิใจแล้ว มันยังเป็นงานที่คนดูหนังต้องสนับสนุน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
_________________