ก่อนจะเริ่มบรรยายอัลบั้มล่าสุดของ Koenjihyakkei ซึ่งออกมาเมื่อปี 2005 นี้ ผมขอเกริ่นอะไรเล็กๆน้อยๆเสียหน่อย เนื่องจากแนวดนตรีของวงจากแดนปลาดิบวงนี้ถูกเรียกว่า Zeuhl (ซุล) ซึ่งแปลว่า Celestial ในภาษาโคบายัน ซึ่งเป็นภาษาที่เอาไว้ใช้สำหรับแนวนี้โดยเฉพาะ เจ้าภาษานี้ก็ริเริ่มโดยมือกลองชั้นครูจาก Magma นามว่า คริสเตียน แวนเดอร์ ส่วนโครงสร้างดนตรีของแนวนี้จะรวมทั้งอวองการ์ด แจ๊ส มินิมัล และก็โปรเกรสสีฟร็อคเข้าด้วยกันจนบางทีซาวด์ของบางวงก็ล่องลอยไปในอวกาศเลย สำหรับที่ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันนี้โปรเกรสสีฟร็อคเป็นอะไรที่นิยมมากพอสมควร วงดนตรีแนวๆนี้จึงผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเลยก็ว่าได้ แต่ถ้าเอาระดับหัวแถวหน่อยก็จะมี Ars Nova ซึ่งเป็นวงโปรเกรสสีฟหญิงล้วนสายคีย์บอร์ด และก็ The Black Mages ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเล่นเพลงของ Final Fantasy โดยเฉพาะ แต่มาหลังๆนี้ก็มีวงดีๆเกิดขึ้นพอสมควร อาทิ Muddy World ซึ่งอยู่ในคาถาของพี่จอห์น ซอร์น (Tzadik) และ Korekyojinn
สำหรับ Koenjihyakkei นี้ก็เป็นหนึ่งในโปรเจ็คของมือกลองชั้นครูอย่างคุณทัตสึยะ โยชิดะ ต่อจาก Ruins ซึ่งเป็นวงแนวเดียวกันที่ทำมาตั้งแต่ปี ’85 ซึ่งวงนี้ก็มีประวัติการเปลี่ยนสมาชิกอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน (แม้ผมจะมีข้อมูลของวงนี้อยู่น้อยก็ตาม) สมาชิกวงปัจจุบันก็ประกอบไปด้วย...
Tatsuya Yoshida – Drums
Kubota Aki – Vocals
Sakamoto Kengo – Bass
Komori Keiko – Soprano Sax
Yabuki Takashi – Keyboards
1. Tziidall Raszhisst
2. Rattims Friezz
3. Grahbem Jorgazz
4. Fettim Paillu
5. Quivem Vrastorr
6. Mibingvahre
7. Angherr Shisspa
8. Wammilica Iffirom
ดนตรีของวงนี้จะให้บรรยายอย่างไรดีล่ะ เพราะผมเพิ่งจะเกริ่นนำเกี่ยวกับแนว Zeuhl ไปเอง (ฮา...) อย่างไรมันก็คือหนึ่งในโปรเกรสสีฟร็อคลูกผสมที่เน้นโหด มันส์ ฮาเข้าว่า ตามลักษณนิสัยของคนญี่ปุ่นเลยละ งานดนตรีร็อคของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเน้นความสนุกสนานเป็นหลัก เพื่อให้คลายเครียดจากการทำงานได้ด้วยในตัวละกระมัง แต่งานของพวกเขามันเกินคำว่าสนุกไปจนถึงขั้นป่วนประสาทในบางจังหวะ แต่ว่าแฝงไปด้วยอารมณ์ที่หลากหลาย จะเสียอยู่อย่างเดียวก็คือภาษาที่ร้องเนี่ยละครับที่ฟังไม่ค่อยจะรู้เรื่องเท่าไหร่ ภาษาที่ร้องนั้นคาดว่าจะเป็นภาษาโคบายันที่อาจจะไม่มีความหมายอะไรเลย ซึ่งคงจะคล้ายๆกับโฮปแลนดิกที่ Sigur Ros ใช้ร้องเพลงอยู่นั่นเอง แต่โครงสร้างทางภาษามันไปคนละทางเท่านั้นเอง นอกนั้นก็คงไม่มีอะไรมาก
เครื่องดนตรีทุกชิ้นของวงนี้จะเน้นไปที่ความซับซ้อนเป็นหลัก แต่พวกเขาไม่มีกีต้าร์คอยเป็นคอร์ดให้ ฉะนั้น คีย์บอร์ด(หรือเปียโน)เลยกลายเป็นตัวคุมคอร์ดแทนเองเสียเลย ไหนๆก็พูดถึงคีย์บอร์ดแล้ว วิธีการเล่นค่อนข้างจะมีอิทธิพลทางคลาสสิกอยู่มากทีเดียว แต่ในขณะเดียวกันก็มีแจ๊สเคลือบอยู่ด้วย ซาวด์เลยชวนหลอนหน่อย แต่ตอนแทรกเมโลดี้ขึ้นมานี่ก็เล่นได้มันส์พอๆกับเล่นกีต้าร์เลยทีเดียว ส่วนเบสนี้ก็บทบาทสำคัญไม่น้อย นอกจากจะเป็นริทึ่มเซคชั่นแล้วก็ยังแทรกโซโลที่โคตรจะดุดันเอาไว้ด้วยในบางเพลง แล้วยังมีลูกเล่นที่ลากหลายอีกด้วย เช่นเดียวกับกลองของคุณทัตสึยะ อันนี้ก็เน้นเทคนิคเต็มที่ แพทเทิร์นนี่ไม่ซ้ำกันซักเพลงเลย แถมเพลงในอัลบั้มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงเร็วด้วย ฉะนั้น แพทเทิร์นความมันส์คงไม่ต้องพูดถึง อีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในวงนี้ก็คือ โซพราโน่แซก ที่เล่นเพราะๆแบบเคนนี่ จีก็ไม่ได้นะครับ เจ๊แกจะเอาหลอนอย่างเดียวเลย (ฮา) บทบาทของแซกก็เด่นในเรื่องการสร้างเมโลดี้แปลกๆขึ้นมาและบางทีก็โซโลได้อย่างหลอนลอย แต่บางทีก็โหดด้วย และมาผนวกกับเสียงร้องสาวที่อย่างไรก็มาจากคลาสสิกชัดๆทำให้ซาวด์ดูหลอนขึ้นไปอีกเท่าตัว และพอนักดนตรีที่เหลือร้องประสานึ้นมาอีกก็จะเป็นอะไรที่โหยหวนสุดๆ (มันยิ่งกว่ากอธิคเมทัลอีกละมั้ง พระเจ้า!!)
Tzidall Rhaszhisst เป็นเพลงเปิดอัลบั้มและก็เป็น First Impression สำหรับผมในอัลบั้มนี้ กับงานดนตรีที่มันส์ถึงลูกถึงคนกับสัดส่วนที่ซับซ้อน เปลี่ยนไปมาอยู่ตลอด เปียโนหลอนๆแต่ก็เล่นคอร์ดออกมาได้อย่างสวยงามทีเดียว โซพราโนแซกก็ประสานกับเสียงร้องนำได้จนเป็นเนื้อเดียว กับเบสโซโลที่ดุเดือดจนถึงขั้นกว่าของจาโค พาสโตเรียสเลยก็ว่าได้ละกระมัง ถ้าเป็นเพลงช้า ผมเลือก Fettim Paillu ที่เป็นเพลงที่สี่ของอัลบั้ม ซึ่งโชว์ความเป็นคลาสสิกมาแต่หัวเพลงเลย แต่พอขึ้นมาได้ประมาณกลางๆเพลงนี่พ่อล่ออวองการ์ดกันเต็มขั้น แล้วครึ่งเพลงหลังก็มาโชว์โซโลคลาริเน็ตซึ่งก็ให้อารมณ์หลอนได้อีกแบบหนึ่ง ถ้าเป็นเพลงช้านี้ ผมว่าวงนี้ทำได้อย่างหลอนครบเครื่องทีเดียว แต่บางจุดก็ทำให้ผมนึกถึง Kayo Dot ยุคแรกๆเลยก็น่าจะเป็นได้
สองเพลงที่กล่าวข้างต้นน่าจะพอเป็นน้ำจิ้มได้สำหรับวงจากแดนปลาดิบวงนี้ ถ้าคุณชอบงานสนุกๆและมีความแปลกในตัวก็น่าจะลองฟังชุดนี้ดูครับ แต่ถ้าหากท่านเป็นคอโปรเกรสสีฟร้อคอยู่แล้วก็ไม่น่าจะพลาดวงนี้แน่นอน