1. Windowpane
2. In My Time of Need
3. Death Whispered a Lullaby
4. Closure
5. Hope Leaves
6. To Rid the Disease
7. Ending Credits
8. Weakness
Opeth นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นวงที่เล่นดนตรีโปรเกรสสีฟเมทัลได้เป็นเอกลักษณ์อีกหนึ่งวง โดยการนำอิทธิพลจากเดธเมทัล (ในด้านเสียงร้อง) และดูมเมทัล เข้ามาในดนตรีของพวกเขา ซึ่งแกนนำก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากมิคาเอล อาเกอร์เฟลท์ และในขณะที่ชุดอื่นๆพวกเขาเล่นโปรเกรสสีฟ (เดธ) เมทัลที่เป็นเอกลักษณ์นั้นเอง ก็ยังมีหนึ่งอัลบั้มที่หลุดกรอบออกมาจากแนวดนตรีหลักที่พวกเขาเล่นโดยสิ้นเชิง และชุดนั้นก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากแฟนๆของวงนี้เสียด้วย นั่นคือ Damnation ที่ออกมาในปี 2003 และเป็นอัลบั้มสุดท้ายจากสามชุดที่พวกเขาได้ร่วมงานกับพี่สตีแว่น วิลสัน ในฐานะที่แกเป็นนักดนตรีรับเชิญและโปรดิวเซอร์ร่วม (สามชุดที่ว่านั้นคือ Blackwater Park, Deliverance และ Damnation นี้เอง) และในช่วงนั้นเอง ไลน์อัพของวงนั้นยังมีปีเตอร์ ลินด์เกร็นในตำแหน่งกีต้าร์ และมาร์ติน โลเปซ ในตำแหน่งกลอง (ส่วนมาร์ติน เมนเดซซึ่งเป็นมือเบสนั้นอยู่ยาวมาจนถึงปัจจุบัน) และทางวงก็ยังไม่มีมือคีย์บอร์ด (ตั้งแต่ Ghost Reveries เป็นต้นมาก็ได้เพอร์ ไวเบิร์กเป็นมือคีย์บอร์ดประจำวง) ในชุด Damnation นี้จึงได้พี่แว่นมาช่วยเล่นคีย์บอร์ดให้ด้วย
งานดนตรีในอัลบั้มนี้จะเป็นงานที่ “เบา” ที่สุดในบรรดาอัลบั้มของวงที่เคยทำออกมาก็เป็นได้ เปิดมาแค่ Windowpane เพลงเดียวก็รู้สึกได้ถึงความเรียบง่ายแลไพเราะตั้งแต่ต้นเพลง ถ้าจะบอกว่างานชุดนี้เป็นโปรเกรสสีฟร็อคก็ได้ แต่ว่าผมขอเลือกที่จะเรียกงานชุดนี้ว่าเป็นอาร์ตร็อคที่ได้อิทธิพลมาจากโปรเกรสสีฟร็อคยุค 70s ซึ่งเป็นยุคที่แนวนี้กำลังเบ่งบานอยู่ทีเดียว ส่วนเสียงคีย์บอร์ดที่พี่แว่นเล่นออกมานั้นก็ทำให้นึกถึงงานยุคหลังๆของ Porcupine Tree อีกด้วย (ทั้งๆที่วงนั้นมีน้าริชาร์ด บาร์บิเอรีเล่นคีย์บอร์ดอยู่แล้ว) นอกจากนี้ ดนตรีในชุดนี้ก็ถือว่า “สะอาด” ที่สุด แต่ก็ยังให้อารมณ์และความรู้สึกที่หม่นหมองในแบบฉบับของ Opeth และส่วนในด้านเนื้อเพลงนั้น พี่แว่นได้ร่วมเขียนเพลงในอัลบั้มนี้ด้วยหนึ่งเพลง คือ Death Whisper a Lullaby และงานชุดนี้กับ Deliverance มิคาเอลจะทำเพื่อเป็นเกียรติให้แก่คุณยายของเขาที่ถึงแก่กรรมจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในระหว่างที่ทางวงกำลังอัดเสียงสองชุดนี้อยู่พอดี (พวกเขาน่าจะเอา Death Whisper a Lullaby ไปเล่นตอนไว้อาลัย เพราะเนื้อหาของเพลงดูจะเหมาะสมที่สุดแล้ว)
สำหรับภาคดนตรีนั้นก็จะเน้นกีต้าร์และคียบอร์ดของพี่แว่นเป็นหลัก โดยที่กีต้าร์คู่นั้นจะเน้นเสียงคลีน (บางทีก็ใช้กีต้าร์โปร่ง) ในการเดินคอร์ดโดยที่มีเสียงคีย์บอร์ดคอยเป็นพื้นหลังเพื่อไม่ให้มี “ช่องว่าง” มากจนเกินไป ส่วนการโซโลจะมีโชว์เมโลดี้หวานๆบ้าง บางทีก็จะโชว์เอฟเฟกต์ที่หวือหวา ซึ่งคงจะได้รับอิทธิพลมาจากวงยุคเก่าๆมาบ้างไม่มากก็น้อย สำหรับคีย์บอร์ดของพี่แว่นนั้นบางทีก็จะตอดเมโลดี้ขึ้นมาเพื่อสร้างบรรยากาศให้กับตัวเพลง แต่หลักๆก็คือการสร้างพื้นหลังให้กับกีต้าร์คู่เพื่อให้มีสีสันมากขึ้นไป และบางเพลงพี่แว่นแกก็จะใช้เสียงเปียโนเพื่อเสริมความไพเราะให้กับตัวดนตรีอีกด้วย
เบสนั้นจะใช้เสียงหนาเพื่อคอยเสริมภาคดนตรีให้แน่นยิ่งขึ้น และเสียงของเบสในชุดนี้ค่อนข้างจะโดดเด่นอยู่พอสมควร คงเป็นเพราะชุดนี้ไม่มีคราบความเป็นเมทัลเหลืออยู่เลย จึงทำให้เสียงเบสนั้นออกมามากขึ้นละกระมัง ส่วนวิธีการเล่นลองของโลเปซนั้นเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียวในชุดนี้ จากในอัลบั้มที่เป็นเมทัลเขาจะรัวกระเดื่องเข้าไปด้วย แต่ในชุดนี้ด้วยความที่จังหวะของแต่ละเพลงส่วนใหญ่จะช้า ทำให้เขาต้องเน้นอารมณ์มากกว่าเดิม ซึ่งเขาก็สามารถทำได้ดีในระดับหนึ่ง แพทเทิร์นที่เขาตีนั้นไม่ซ้ำซากจนเกินไป แต่กลับเสริมเอกลักษณ์ของดนตรีในอัลบั้มให้โดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนเสียงร้องของมิคาเอลในชุดนี้ไม่มีการสำรอกเลย มีแต่เสียงคลีนอย่างเดียว ซึ่งเขาก็สามารถทำได้ดี แม้สำเนียงภาษาอังกฤษของเขาอาจจะไม่ชัด (เท่าเพื่อนร่วมชาติบางคนเช่นน้ารอน สโตลท์ หรือพี่แดเนียล กิลเดนโลว์) ในชุดนี้ เสียงร้งของเขาทำให้ผมนึกถึงลุงเดวิด กิลมอร์หรือไม่ก็น้าเดวิด ซิลเวียนในเวอร์ชั่นสวีดิชซึ่งก็น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน
สำหรับใครที่ชอบเมโลดี้สวยๆและติดหูง่าย ผมขอแนะนำให้ลองฟัง Windowpane ซึ่งเป็นเพลงเปิดอัลบั้มและยังเป็นซิงเกิ้ลเปิดตัวที่เน้นรายละเอียดของกีต้าร์เสียมาก ถ้าหากท่านชอบอะไรที่หวือหวาหน่อยให้ลอง Death Whispered a Lullaby ซึ่งจะมีการร้องประสานเสียงเป็นจุดเด่น แต่ที่เด่นยิ่งกว่าก็คือการเล่นโซโลที่หวือหวาเป็นพิเศษ และยังมีท่อนสร้อยที่บาดลึกด้วยเพียงประโยคเดียวคือ “Oh, sleep my child…” เพลงนี้เองที่ทำให้ผมนึกไปถึงเพลงที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันอย่าง Sleep Together ของ Porcupine Tree อีกด้วย สมแล้วละครับที่พี่แว่นมาเขียนเพลงนี้และร่วมโปรดิวซ์ด้วย ส่วนถ้าชอบเพลงบรรเลงก็มี Ending Credits ที่จะเน้นเสียหน่อย
งานชุดนี้ผมขอสรุปสั้นๆว่าเป็น “อาร์ตร็อค” ที่สมบูรณ์แบบที่สุดอีกชุดหนึ่ง ถ้าหากใครชอบงานโปรเกรสสีฟร็อคยุคเก่าๆคงจะเข้าถึงได้ไม่ยาก หรืออาจจะเป็นแฟนเพลงวงนี้อยู่แล้วและต้องการมาผ่อนคลายก็ได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่ฟังโปรเกรสสีฟร็อคใหม่ๆก็ลองหาชุดนี้มาเริ่มฟังได้เลยครับ