เจ. เค. โรว์ลิ่ง กล่าวว่ามีแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์นับไม่ถ้วน ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เธออ่านหนังสือมากมายตั้งแต่ในวัยเด็กจนถึงวัยทำงาน หนังสือพวกนั้นทำให้ความใฝ่ฝันที่เธอจะเป็นนักเขียนเพิ่มมากขึ้น โรว์ลิ่งมีความสุขที่จะได้อ่าน มีความสุขที่หนังสือ วรรณกรรม วรรณคดี นิยายทั้งหมดทั้งมวลที่เธออ่านคอยเพิ่มพูนความสุขมาให้ โรว์ลิ่งมักจะอยู่กับหนังสือเป็นเวลานาน ๆ เธอไม่เคยเบื่อการอ่านเลย ส่วนที่สองเกิดจากคนรอบข้างเธอตั้งแต่วัยเด็ก เช่น เพื่อนบ้านที่คอยดูแลเธอ เป็นต้น โรว์ลิ่งล้วนรักคนพวกนั้น เธอมักนำชื่อต่าง ๆ ที่เธอเกี่ยวข้องมาลงเขียนในหนังสือเสมอ
ความคิดเกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์เข้ามาในหัวของเจ. เค. โรว์ลิ่ง ขณะที่เธอนั่งรถไฟจากแมนเชสเตอร์มายังลอนดอนในปี พ.ศ. 2533 ในวันที่โรว์ลิ่งขึ้นรถไฟไปหาแฟนหนุ่มที่แมนเชสเตอร์ ทางเหนือของประเทศอังกฤษ ในขบวนรถไฟของสถานีคิงส์ครอสที่จะเดินทางกลับไปที่ลอนดอน หลังจากที่เธอนั่งลงที่ตู้ผู้โดยสาร ในตอนนั้นโรว์ลิ่งคิดที่จะเขียนนิยายอยู่พอดี เธอคิดถึงหนังสือต่าง ๆ ที่เธอเคยอ่าน เธอมักพูดอยู่เสมอว่าจะเขียนหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ หนังสือที่เธอชอบคือเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ตำนานแห่งนาร์เนีย ซึ่งเนื้อหาของในหนังสือสองเล่มนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับแฮร์รี่ พอตเตอร์เช่นกัน
เธอคิดถึงตัวเอกของนิยายของเธอ ส่วนของรูปร่างหน้าตาเธอยังไม่สามารถคิดได้ จนในขณะที่เธอมองวิวนอกหน้าต่างอยู่นั้นเธอก็เกิดความคิดขึ้น ภาพของเด็กชายตาสีเขียว ใส่แว่นตา และมีรอยแผลเป็นรูปสายฟ้าอยู่ตรงหน้าผากก็เข้ามาในใจของเธออย่างรวดเร็ว โรว์ลิ่งกล่าวในภายหลังว่า
ฉันเขียนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อายุหกขวบ แต่ฉันไม่เคยตื่นเต้นกับความคิดไหนมากขนาดนี้มาก่อน [...] ฉันเพียงแค่นั่งและก็คิด เป็นเวลาถึง 4 ชั่วโมง และรายละเอียดทั้งหมดก็ผุดขึ้นมาในหัวของฉัน และเด็กผู้ชายใส่แว่นผมดำผอมติดกระดูกที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นพ่อมดคนนี้ก็กลายเป็นความจริงสำหรับฉันขึ้นเรื่อย ๆ
โรว์ลิ่งเดินทางบนรถไฟ 4 ชั่วโมง เธอนั่งคิดเรื่องราวทั้งหมดโดยไม่ได้จดเอาไว้ (เธอไม่มีกระดาษ) โรว์ลิ่งตั้งชื่อเด็กชายว่า "แฮร์รี่" ซึ่งเป็นชื่อที่เธอโปรดปรานมากที่สุด และตั้งนามสกุลว่า "พอตเตอร์" ซึ่งเป็นชื่อของครอบครัวเพื่อนบ้านสมัยเด็ก เธอตั้งวันเกิดของแฮร์รี่ให้เป็นวันที่ 31 กรกฎาคม เหมือนกับวันเกิดของตัวเอง โรว์ลิ่งคิดถึงฉากในเรื่อง โรงเรียนของเด็กชายเป็นโรงเรียนสอนวิชาเวทมนตร์ให้แก่พ่อมดและแม่มดที่ยังเป็นเด็ก โดยให้โรงเรียนอยู่ทางเหนือของสกอตแลนด์ เพราะเธอคุ้นเคยกับปราสาทเก่าแก่มากมายในแถบนั้น
เมื่อรถไฟลงถึงที่ลอนดอน เธอรีบตรงกลับไปที่บ้านและจดบันทึกเรื่องราวทุกอย่างที่เธอคิด โรว์ลิ่งวางแผนว่าจะเขียนให้มีถึง 7 ภาคด้วยกัน แต่ละเล่มคือแต่ละปีของแฮร์รี่ที่ฮอกวอตส์ เธอมักเขียนหนังสือที่ร้านกาแฟในเมืองเอดินเบอระ และคิดค้นหาชื่อตัวละครจากทุกที่ไม่ว่าจะเป็น สมุดโทรศัพท์ ป้ายร้านค้า นักบุญ หมู่บ้านต่าง ๆ รวมไปถึงสมุดตั้งชื่อเด็ก เธอยังได้คิดกีฬายอดฮิตของพวกพ่อมดที่มีชื่อว่าควิดดิช เธอคิดชื่อและประวัติของกีฬา รวมถึงวิธีการเล่นต่าง ๆ ลูกบอล ซึ่งโรว์ลิ่งได้นำกีฬาต่าง ๆ มาผสมผสานกัน
โรว์ลิ่งใช้เวลากว่า 5 ปีเพื่อที่จะทำการขัดเกลานิยายของเธอให้สมบูรณ์ ใช้ภาษาให้ดูสวยขึ้น เธอกล่าวภายหลังว่าบทควิดดิชในหนังสือเล่มแรกเธอสามารถเขียนได้เร็วที่สุดโดยเธอเขียนเสร็จภายในวันเดียวและแก้คำไปเพียงสองถึงสามคำเท่านั้น 5 ปีหลังจากที่เกิดความคิดที่จะเขียนนิยายเรื่องนี้ หนังสือของเธอก็ได้รับการตีพิมพ์และขายดีไปทั่วโลก
_________________