
Hilary Duff : Dignity : 3/5
รีวิวนี้เป็นรีเควสของคุณน้องGear_Knightนะคะ ก่อนอื่นเดี๊ยนขอชมหนูฮิลก่อนนะคะสำหรับชั้นเชิงและพัฒนาการที่ดีขึ้นมากๆ(สำหรับเดี๊ยน) และเดี๊ยนขอขอบคุณคุณพี่นาโอสำหรับรีวิวก่อนหน้านี้เชิญคลิกค่ะ ถือเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดรีวิวชิ้นนี้อย่างสูงค่ะ รวมไปถึงBomb-Gatesสำหรับการนำเสนอข้อดีหลายๆด้านและการันตีคุณภาพของอัลบั้มนี้ค่ะ
รูปแบบเพลง:
งานชุดนี้ฮิลได้ลดทอนบทบาทของภาคดนตรีพ็อพร็อคลงแล้วฉีกไปนำเสนอแนวใหม่ๆอย่างอิเล็คโทรนิคที่ถ่ายทอดบนฐานของดนตรีพ็อพเต้นรำผสมผสานจังหวะของ อาร์แอนด์บี พ็อพ มิดเทมโพ อัพบีทและซาวนด์ตะวันออกลงในบางแทร็ค เรียกได้ว่าเป็นอัลบั้มซาวนด์ทดลองที่ค้นหาอัตลักษณ์ในการทำงานเพลงในอนาคตของเธอที่บังเอิญโชคดีได้ความลงตัวและเอื้ออำนวยต่อศักยภาพของตัวศิลปินโดยที่เธอไม่ต้องเหนื่อยกับการค้นหาตัวเองในอนาคตมากนัก....
จุดด้อย :
....เพียงแต่จะต้องเหนื่อยอีกเยอะในการพัฒนาฝีมือการเพอร์ฟอร์มและการเอ็นเตอร์เทนของตัวเธอเองให้สามารถสื่อความแรงของตัวเพลงและตัวเธอเองให้ออกมาได้อย่างมากที่สุด สำหรับเดี๊ยนภาพลักษณ์คือสิ่งแรกและสิ่งใหญ่ที่เธอควรเปลี่ยนชนิดที่ต้องเอาให้มันสอดคล้องกับแนวเพลงไปเลย นี่อะไร! เพลงเหยียบๆจะเปรี้ยวอยู่แล้วแต่ภาพลักษณ์เธอกลับอ่อนยวบยาบเหมือนคนไม่มีบุคลิกเอาซะเลย เข้าใจค่ะว่าชื่อ "ฮิลลารีย์ ดัฟฟ์" ขายได้ แต่ในเมื่อถ้าลองทำลองเปลี่ยนแล้วมันจะช่วยขยายฐานคนฟังของเธอให้กว้างมากขึ้นมันก็น่าจะทำถูกมั้ยคะ! เรามาคิดกันง่ายๆก็ได้ค่ะ เทียบฮิลารีย์กับบรรดาศิลปินหญิงที่ทำเพลงแนวๆนี้อย่าง มาดอนน่า, เกว็น สเทฟานี่ ,ไคย์ลีย์ มิโน้ก, บริทนีย์ สเปียร์สฺ หรือแม้กระทั่งที่ออกจากวงการไปแล้วอย่าง ฮอลลี่ วาแลนซ์ แล้วกลับมามองฮิลดูสิคะว่าสามารถเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเทียบชั้นนางๆเหล่านี้ได้มั้ย สำหรับเดี๊ยนงานเธอไร้คอนเซ็ปท์ไปเลยอ่ะค่ะแล้วแบบนี้มันสมควรจะปรับได้รึยังคะ
จุดด้อยเรื่องหนึ่งที่เดี๊ยนถือว่าต้องพูดเลยคือ ความผิดหวังจากอัลบั้มชุดที่สองของเธอ คือแบบว่าปกติเดี๊ยนก็ไม่ได้คลั่งไคล้ศรัทธาอะไรในตัวเธออยู่แล้ว (พูดตรงๆเลยว่าเข้าขั้นเกลียด) ยิ่งโชคร้ายไปจองานเพลงที่ขออนุญาติเรียกว่า "ใช้ตีนทำ" เข้าอีก มางวดนี้เวลาจะควักตังค์จ่ายต้องเดินคิดแล้วคิดอีกเกือบครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว (แม้ว่าหลายๆคนจะเชียร์อยู่ว่าเธอพัฒนาแล้วก็ตาม) อย่างไรก็ตามตบหัวแล้วก็ขอลูบหลังตามธรรมเนียมนะคะเพราะเธอทะลึ่งทำออกมาในระดับที่ดีเกินความคาดหวังไว้เยอะ ฟังจบรอบแรกก็ทำให้เธอก็ได้ควมรู้สึกดีๆจากเดี๊ยนประเคนกลับไปเข้าขั้นกำไรเชียวค่ะ
ปิดท้ายหัวข้อนี้อย่างงดงามด้วยเรื่องของเสียงค่ะ แม้ว่าจะสามารถเลือกแนวดนตรีได้เหมาะกับตนเองแต่ต้องยอมรับนะคะว่า "เสียงของหนูขาดมิติ" ซึ่งเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่พอตัวสำหรับผู้ฟังบางท่านในบางเพลงมันดูจืดชืดขาดอารมณ์ร่วมและกลายเป็นขาดชีวิตในตัวเพลงไปเลย แย่ไปกว่านั้นคือศักยภาพของบางเพลงที่มันน่าจะแรงกว่าระดับที่เราได้ยินอยู่แต่หนูไม่สามารถถ่ายทอดมันออกมาได้ถึงขีดสุด "มันแค่ปิ๊งๆแต่มันไม่ตูมตามน่ะ" ถ้าลองเอาไปเทียบกับงานของรุ่นเดียวกันอย่างแอชลีย์ ซิมป์สัน หรือ ลินเซย์ โลฮาน ความชัดเจนของตัวตนเธอที่ใส่ลงไปในดนตรียังสู้พวกเขาได้ยาก
ป.ล. ล่าสุดได้คุยกับคุณน้อง Dhoom Girl เธอให้แง่คิดที่กินใจเดี๊ยนมากๆค่ะ ดังนี้ "ทีนควีนรุ่นนี้หนูว่าสู้รุ่นบริทนีย์หรือว่าคริสทิน่าไม่ได้เลย พวกเธอยังหาจุดยืนที่มั่นคงทั้งในเรื่องของภาพลักษณ์และดนตรีไม่ได้สักคน ขาดความชัดเจนกับไปซะหมด" อันนี้เห็นด้วยค่ะ ถ้าพิจารณาจริงๆยังไม่มีใครทำงานเพลงในระดับที่ออกมาโดนจริงๆแบบทีนดิว่ายุค90ได้ซักคน อันนี้ยกเว้น อาวริล ลาวีญ ไว้คนเดียวนะคะ ที่รอด
ซิงเกิ้ล :
Play With Fire (3/5) ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ตั้งใจให้เป็นซิงเกิ้ลแรกอย่างเป็นทางการนะคะ เพียงแต่ตัดออกมาลองเชิงตลาดให้รับรู้ถึงก้าวใหม่ของฮิลารีย์ จริงๆแล้วก่อนหน้านี้เคยเป็นเพลง Happy(2/5) เวอร์ชั่นที่ได้ยินในเรื่อง Material girl มาก่อนน่ะค่ะ แต่ภายหลังเกิดเก่อะไรขึ้นมาไม่รู้นะคะเลยแต่งเนื้อใหม่ทำนองใหม่ออกมาแยกออกมาเป็น Happy เวอร์ชั่นอัลบั้มเป็นพ็อพเต้นรำที่ผสนลูกเล่นของคลับแดนซ์เข้าไปน่ะค่ะ โดยส่วนตัวแล้วหาชั้นเชิงได้น้อยเต็มทีนะคะ กลับมาที่Play With Fire ต่อค่ะ ภาคดนตรีมาแนวคลับแดนซ์เช่นกันแต่เก๋กว่าด้วยการผสานความหลากหลายทั้งซาวนด์ อิเล็คโทรนิค เรโทร ฟังค์กีย์ อาร์แอนด์บีและเหยาะความเป็นร็อคนิดๆได้อย่างตัว เท่ห์มากๆค่ะ! ก่อนอื่นขอบอกว่าฟังครั้งแรกแล้วรู้สึกเกลียดเพลงนี้มากๆเกลียดชนิดที่หาเหตุผลมาตอบไม่ได้ด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อฟังมากรอบมากขึ้นรวมถึงเปิดใจให้ตัวศิลปินมากขึ้นข้อดีก็มีมาให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆค่ะ แต่ที่รู้สึกว่าดีที่สุดคือเดี๊ยนว่าเธอสามารถระเบิดพลังในตัวเพลงให้ออกมาแรงในระดับที่สมควรจะเป็น โดยส่วนตัวข้อนี้ค่อนข้างพึงพอใจมากๆค่ะเสียดายที่หาแบบนี้ยากมากๆในงานเพลงของเธอ
With Love (3.5/5) ซิงเกิ้ลแรก(ออกน้ำหอมชื่อเดียวกันด้วยนะคะ) พ็อพแดนซ์เจืออิเล็คโทรนิคและท่วงทำนองอาร์แอนด์บีเข้ามานิดๆ ฟังครั้งแรกแล้วตกใจนะคะไม่น่าเชื่อว่าเธอจะทำเพลงเต้นรำออกมาได้ดีเข้าขั้นขนาดนี้ ขอยกให้เป็นซิงเกิ้ลที่ตลาดต้องการที่สุดรวมทั้งมีชั้นเชิงที่สุดในชีวิตการทำงานของเธอไปเลย
ป.ล. คุณแม่เดี๊ยนท่านฟังครั้งแรกยังตกใจเลยค่ะพอบอกว่าเป็นเพลงของฮิลารีย์ ดัฟฟ์ ถึงกับออกปากว่า "หลังจาก Why Not กับ So Yesterday ก็เห็นมีเพลงนี้นี่แหละที่ดูน่าชอบหน่อย" ถ้าได้มารู้จักการฟังเพลงของคุณแม่เดี๊ยนแล้วหล่อนจะต้องภูมิใจกับการชมเชยครั้งนี้มากๆย่ะ ฮิลารีย์ ดัฟฟ์
Stranger (2.5/5) ซิงเกิ้ลล่าสุด เป็นแทร็คเปิดอัลบั้มค่ะ อาร์แอนด์บี พ็อพอิเล็คโทรนิคหยอดลุกเล่นและจังหวะจะโคนของกลิ่นอายตะวันออกได้อย่างลงตัว อย่างไรก็ตามเดี๊ยนรู้สึกว่าเพลงนี้ควรจะแรงได้มากกว่านี้ด้วยตัวเนื้อหาที่สื่อออกมาได้ค่อนข้างมีชั้นเชิงอยู่แล้ว --ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับโจเอลน่ะค่ะ-- ถ้าให้ออกความเห็นเดี๊ยนก็ขอแนะนำให้ทำออกมาเป็นเพลงอาร์แอนด์บีเต้นรำเจือบีทอาราเบียนฮิพฮอพไปเลยอ่ะค่ะ ลองให้สนู๊พด็อก หรือ อาร์ เคลลีย์มิกซ์ออกมาเป็นแนวนี้เดี๊ยนว่าเกิดกว่านี้แน่ค่ะ
แทร็คอื่นๆ:
Dignity (4/5) ไทเทิ่ลแทร็ค ผสมผสานดนตรีและลูกเล่นการร้องได้น่าปลื้มมากๆ ยืนพื้นที่พ็อพร็อคบนโครงสร้างดนตรีอิเล็คโทรนิคสไตล์ไลท์เทคโน ก่อนจะหยอดบีทเต้นรำและตบความเป็นแทรนซ์เข้าไป เป็นการผสมผสานแบบจับแพะชนแกะแต่ให้ผลลัพธ์ออกมาลงตัวและเปรี้ยวมากๆค่ะ เล่นเอาเดี๊ยนลืมเด็กสาวที่เคยนั่งร้องเพลงมิคกี้เมาส์คลับเสร่อๆไปซะสนิทเลย ยิ่งเนื้อหาขอตบอกว่า เริ่ดมาก! งวดนี้ฮิลมาดุนะคะด่ากราดรัวไม่นับสับไม่ยั้งกวาดเซเลบริตี้กองหน้าอย่างอีย์ปารีด นิโคล ลินเซย์ไปจนถึงอีย์หอกซะเรียบวุธตายอนาถตกไปตามๆกันเลยน่ะค่ะ น่ากลัวมากๆ แต่เบสไลน์เหมือนเพลง Hollywood ใน American Life ของ มาดอนน่าไปนิดนะคะ
Gypsy Woman (3/5) ทำเก๋ด้วยการจิกสุนทรพจน์ของท่านเซอร์วินสทัน เชอร์ชิลในปี1940มาแปะหัวท้ายนะคะ ตอนนี้ยังเป็นที่เถียงกันไม่จบสิ้นนะคะว่า "อีย์ขี้ขโมย" ที่เธอกับเฮย์ลีย์พร้อมใจจรดปากกาว่าแดกนี่ย์เป็นใครระหว่าง นิโคล ริชชี่ กับ สาวที่คบชู้กับคุณพ่อของเธอกันแน่ มาที่ตัวเพลงก็ง่ายๆค่ะวางโครงสร้างดนตรีไว้แล้วก็ปล่อยบีทอิเล็คโทรนิคบินว่อนไปทั่วเพลงแล้วก็ร้องคลอไปตามเรื่อง มุขนี้เป็นมุขที่คลาสสิคที่สุดที่คนทำเพลงเต้นรำชอบใช้เลยเชียวค่ะ ดดยส่วนตัวชอบสไตล์การร้องในเพลงนี้ค่ะเซ็กซี่ดี ฟังดูลึกลับเหมือนฮิลกำลังท่องมนต์ดำสาปแช่งคู่กรณีอยู่น่ะค่ะ มาที่ Danger (2/5) เรโทรอัพบีทบวกเข้ากับพ็อพอิเล็คโทรนิค เนื้อหากล่าวถึงความสัมพันธ์ของเพื่อนสนิทกับชายที่สูงอายุกว่า โดยส่วนตัวรู้สึกว่าไม่ชอบค่ะ โดยส่วนตัวเกลียดอิเล็คโทรนิคที่ค่อนไปทางเรื่อยเปื่อย ขาดชีวิตชีวาและจืดชืดแบบนี้เป็นทุนอยู่แล้ว ถ้าใส่แทรนซ์แบบอวกาศหลอนๆเข้าไปอย่าง Lonely In Space ของทาทา ยัง จะน่าติดตามกว่านี้เยอะค่ะไม่ก็เอาไปมิกซ์เป็นเฟรนซ์เฮาส์เลยก็ได้นะคะ กล้าๆหน่อย หนึ่งในเพลงสุดโปรดของยกให้ Outside Of You (3/5) เพลงนี้พิงค์สุดที่รักของเดี๊ยนมีเครดิตร่วมแต่ง (ใช้ชื่อว่า A.mooreน่ะค่ะ) พ็อพร็อคอ่อนๆเจือบีทอิเล็คโทรนิคแบบนี้เคยได้ยินมาแล้วในอัลบั้ม State Of Mind ของ ฮอลลี่ วาแลนซ์ น่ะค่ะ โดยส่วนตัวให้ความรู้สึกที่คล้ายกันมากแต่เดี๊ยนว่าระดับฮิลยังสู้ไม่ได้นะคะ ยัยนั่นจริตสูงกว่ามากๆ โดยรวมแล้วชอบค่ะ I Wish (3.5/5) ว๊าว! ขอบคุณมากๆที่ทำเพลงนี้ออกมา พ็อพร็อคยุค80หนึ่งเดียวในอัลบั้มให้อารมณ์ที่สดและดิบและกระชากตัวเองออกมาให้โดดเด่นจากบรรดาอิเล็คโทรนิคในอัลบั้ม โดยส่วนตัวเพลงนี้เธอร็อคได้เข้าท่าและถูกกาลเทศะในความรู้สึกมากๆค่ะ เหมาะต่อการเล่นสดมากๆค่ะ ดังนั้นไปฝึกร้องสดมานะคะ
Burned (1/5) เพลงนี้แค่ขอพูดถึงสั้นนะคะว่า "แย่สุด" จบข่าว! มาที่ Dreamer (3/5) น่าสนใจกว่ามากค่ะ โครงสร้างเพลงคล้ายๆกับ Nothing In This World ของ ปารีส ฮิลทัน พ็อพอิเล็คโทรนิคเจือกลิ่นอายเต้นรำบางๆรวมไปถึงซอฟต์ร็อคด้วยค่ะ (ลองฟังดูดีๆนะคะ) เมโลดีย์น่ารักมากๆชนิดที่สวนทางกับเนื้อหาที่เปรี้ยวแสบสันจนน่าตกใจเลยทีเดียว ชอบค่ะ เลี่ยนกับอิเล็คโทรนิคมามากแล้วเนอะสลับมาฟังพ็อพใสๆกันบ้างดีมั้ยคะนี่เลย Never Stop (3/5) กับ Between You And Me สองเพลงนี้เป็นพ็อพที่แฝงกลิ่นอายมิดเทมโพช่วงยุค80ฟังแล้วนึกถึงงานของมาดอนน่ายุคอัลบั้ม True Blue มากๆค่ะ ทำออกมาคั่นได้ถูกเวลามากๆ อีกเพลงที่เล็งเป็นการส่วนตัวคือ No Work , All Play (2.5/5) มีกลิ่นอายและอิทธิพลของอาร์แอนด์บีแรงทีสุดในอัลบั้ม ฟังแล้วคิดว่า70%น่าจะเป็นรากฐานของอัลบั้มต่อๆไป (ในกรณีที่เธอคิดจะเปลี่ยนแปลงอีก) นี่เป็นตัวอย่างของเพลงที่จะสามารถทำให้ออกมาแรงจนถึงขั้นติดตลาดได้แต่ติดตรงที่ฮิลยังกล้าๆกลัวๆจะเปลี่ยนแปลงอยู่ จริงๆแล้วถ้าอยากจะแรงก็แรงออกมาเลยดีกว่าเพลงแบบนี้เอาจริงๆจะมิกซ์ให้ออกมาเป็นสตรีทอาร์แอนด์บีแบบที่อแชนทิชอบทำเรียกคะแนนชัวร์ หรือ ถ้าจะเอาชัวร์จริงๆเอาเป็นเออร์บันพ็อพเต้นรำแล้วเรียกแร็พเพอร์ชายมาฟีทก็มีแววรุ่งอยู่ ลองเชิงกับนีโย่หรือไม่ก็บาววาวไปก่อนที่จะขยับไปเล่นกับพวกทวิสทา บัสทา ไรม์หรือเรฟรัน โห! เพลงเธอเอาจริงๆจะก้าวไปหลายขั้นก็ได้อยู่นะแต่มันอยู่ที่ว่าเธอจะกล้าก้าวรึเปล่า คิดเอาแล้วกันว่าอยากจะเป็นแค่บริทนีย์ภาคทีนควีนหรืออยากเป็น The One And Only ฮิลารีย์ ดัฟฟ์ ศักดิ์ศรีมันต่างกันลิบเลย
สรุป:
สำหรับเดี๊ยนหนึ่งในคุณสมบัติที่ดีและสำคัญที่สุดของศิลปินคือ คุณต้องมีพัฒนาการ ขอยอมรับเลยว่าหลังจากที่ได้ฟังอัลบั้มนี้เดี๊ยนลืมไปเลยว่าเพลงเธอเคยอ่อนปวกเปียกแค่ไหน เคยไร้สาระแค่ไหนและที่สำคัญลืมไปเลยว่าเคยเกลียดทุกสิ่งอย่างที่เป็น ฮิลารีย์ ดัฟฟ์ แค่ไหน จากศิลปินที่เดี๊ยนเคยมองเธอว่าเป็นแค่ศิลปินในกองขยะ สู่วันนี้แหละที่เดี๊ยนจะขอยอมลงไปคุ้ยขยะเหล่านั้นแล้วพิจารณาอีกที เพชรบางเม็ดอาจจะไม่ได้ส่องประกายแสงเจิดจ้าในครั้งแรกที่เราสัมผัสมันก็ได้ หลังจากนี้ไปจะเป็นบทพิสูจน์แล้วค่ะว่า ฮิลารีย์ ดัฟฟ์ คนนี้เธอคือเพชรที่เริ่มจะเจิดจรัสออกมาตามกาลเวลาหรือเปล่า
_________________
