
Blossom Dearie : Once Upon A Summertime : 4/5
รูปแบบเพลง
ดนตรีของป้าบลอสซั่มเป็นสแตนดาร์ดแจ๊ซซ์ช้าๆเนิบๆถ่ายทอดผ่านบนท่วงทำนองเพียโนหวานๆ ถ้านึกไม่ออกลองนึกถึงงานของศิลปินพ็อพแจ๊ซซ์รุ่นนี้อย่าง นอร่าห์ โจนส์ ดูโดยส่วนตัวคิดว่าลีลาการนำเสนอในบางส่วนคล้ายคลึงกัน เพียงแต่อารมณ์เพลงของป้าบลอสซั่มจะแทรกความเป็นวินเทจมากกว่าซึ่งมีการผสานทั้งไลท์แจ๊ซซ์ยุค50 บีบ็อพและลูกเล่นของคาบาเร่ต์ (ดนตรีที่ใช้แสดงในคลับหรือภัตราคารที่เล่นเพลงแจ๊ซซ์) ที่เด็ดไปกว่านั้นคือลูกเล่นการใช้เพียโนของป้าค่อนข้างให้อรรถรสที่หลากหลายตั้งแต่หวานหยด เศร้าซึ้งไปจนถึงการด้นเพียโนสดๆแบบจังหวะสวิงที่ช่วยนำผู้ฟังให้ย้อนกลับไปสัมผัสความสดของบรรยากาศในคลับเพลงแจ๊ซซ์ยุคนั้นได้อย่างดี
จุดด้อย
สำหรับบางท่านเจออัลบั้มนี้อาจจะหลับคาสเตอริโอไปเลยก็ได้นะคะ อย่างที่รู้ๆกันแหละค่ะว่าแจ๊ซซืเป็นยานอนหลับชั้นดีได้ขนาดไหน ยิ่งเด็กอาร์แอนด์บีแดนซ์กระจายอย่างเดี๊ยนมาชนกับเพียโนแจ๊ซซ์หวานๆเย็นๆของป้านี้ อุ้ย! ฝันดีเชียวค่ะ (อัลบั้มนี้นี่ท่านป้าล่อเดี๊ยนซะเคลิ้มไปหลายรอบเลยทีเดียว) อย่างไรก็ตามเมื่อสามารถปรับตัวให้ชินกับอารมณืเพลงของเธอได้แล้วนั้นขอบอกได้ว่าสัมผัสได้ถึงความละเมียดละไมและสุนทรีย์ได้อย่างดีเลยทีเดียว จากความง่วงในการฟังรอบแรกๆก็กลับกลายเป็นความไพเราะและผ่อนคลายได้อย่างน่าอัศจรรย์
อีกหนึ่งเรื่องคือชื่อเสียงของป้าในประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยมและรู้จักมากนัก (ข้อมูลนี้จากป้าโดเรมีโดยตรงค่ะ) คือดิว่าเพลงแจ๊ซซ์ฟันฐานคอแจ๊ซซ์ในเมืองไทยได้หลักๆเลยคือ เอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์,นีน่า ซีโมนส์และบิลลี่ ฮอลิเดย์ หลังจากที่ได้ฟังทุกนางเทียบกันแล้วขอบอกเลยค่ะว่าป้าบลอสซั่มสู้พวกเธอไม่ได้อันนี้ไม่ใช่ว่าเพลงป้าห่วยแต่ในเรื่องของความแรงในผลงาน เอกลักษณ์เฉพาะตัว ทักษะในหลายๆด้านที่เหนือกว่ารวมถึงชื่อชั้นป้าเรายังเทียบเจ้าป้าเหล่านั้นไม่ได้ ขนาดเอาลงมาเทียบรุ่นกับชื่อชั้นที่รองลงมาอย่างดิน่า วอชิงทัน,แอนนิต้า โอเดย์ หรือ ซาร่าห์ วอห์น งานป้ายังเป็นรองพวกหล่อนเลย คืองานป้าดีค่ะแต่ชื่อื่นที่กล่าวมาติดตลาดกว่า แกร่งกว่าจนเป็นตัวเลือกที่หลายๆคนมองว่าน่าจะดีกว่าไปโดยปริยายน่ะค่ะ
ป.ล. ทำใจเท่านั้นค่ะป้าเพราะตอนนี้ถ้าจะไปแข่งเรื่องชื่อเสียงอะไรก็ต้องตามพวกป้าๆเหล่านั้นไปเจอกันบนสวรรค์อย่างเดียวค่ะ จงภูมิใจที่เป็นคนเดียวที่ยังเหลืออยู่ หึหึหึ
แทร็คเด็ด
เดี๊ยนขอไม่รีวิวหมดทุกแทร็คนะคะขอยกมาเฉพาะแทร็คเด็ดๆที่น่าสนใจและคิดว่าน่าจะถูกใจเพื่อนๆเพื่อจะไปหามาลองฟังกันดูนะคะ เริ่มด้วยแทร็คแรก Tea For Two (3.5/5) เพียโนไลท์แจ๊ซซ์เบาๆเพลงนี้คัฟเวอร์มาจาก เออร์วิ่ง ซีซาร์เมื่อปี1925 ก่อนหน้านี้เคยฟังเป็นเวอร์ชั่นสนุกๆของเจ้าป้าแอนนิต้า โอเดย์ พอมาเจอเวอร์ชั่นๆนุ่มๆซอฟๆแบบนี้ก็สุนทรีย์ไปอีกแบบดีค่ะ ต่อแทร็คถัดไป Surrey With The Fringe On Top (5) เพลงที่เะอถอดวิญญาณร้องให้บ้านเกิดของเธอ ส่วนตัวชอบมากๆค่ะพ็อพแจ๊ซซ์เย็นๆเมโลดีย์งดงามบริสุทธิ์มากๆให้ความรู้สึกที่อบอุ่นและผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูก คาดว่าแนวนี้แฟนๆของนอร่าห์ โจนส์คงชอบเพลงที่อารมณ์อาบไปด้วยความสุขทุกตัวโน๊ตแบบนี้
ป.ล. เดี๊ยนฟังแล้วเห็นแต่หน้ายัยโอลีฟ ออยล์แฟนตาป็อปอายหลอนอยู่ในหัวตลอดเพลงเลยค่ะ ไม่รู้ทำไม
Once Upon A Summertime(5) ไทเทิ่ลแทร็ค แจ๊ซซ์ฝรั่งเศสโดยแท้ค่ะเนื่องจากต้นฉบับมาจากเพลง La Valse es Lilas ซึ่งแต่งโดย Michel Legrand เรื่องของเรื่องป้าแกเผอิญไปปิ๊งเพลงนี้เข้าที่ปารีสถึงกับออกปากชมว่า The exquisite music with lovely French lyrics ว่าแล้วก็เลยขอให้นักแต่งเพลงแต่งออกมาเป็นภาษาอังกฤษใหเแกร้องเสียเลย (ต๊ายยย ง่ายดีนะคะนั่น) มาที่ตัวเพลงค่ะโดยส่วนตัวเดี๊ยนว่าเป็นเพลงที่สมบูรณ์แบบที่สุดในอัลบั้มค่ะ ชอบมากๆก็คืออารมณ์ที่ว่างเปล่าแต่แฝงด้วยความเข้มข้นและทรงพลังในตัวเอง สมค่าที่เป็นศิลปะชั้นสูงที่ทำออกมาขายคนรักดนตรีโดยแท้
ลองสลับมาฟังเแจ๊ซ์สนุกๆกันดูบ้างมั้ยคะเดี๊ยนขอส่งMoonlight Saving Time (3.5/5) กับ Down With Love (4/5) เข้าประกวดนะคะ สแตนดาร์ดเพียโนแจ๊ซซ์สนุกๆประสานจังหวะจะโคนของสวิงแล้วก็สรรพสำเนียงบีบ็อพเริ่ดมากๆค่ะ แม้ว่าความยาวจะแค่หนึ่งนาทีกว่าๆแต่ไอ้หนึ่งนาทีกว่าๆนี่แหละค่ะที่คุณจะตกหลุมรักเป็นอันดับแรกและในครั้งแรกที่ฟัง เพราะติดหู หรูและเก๋สุดๆ มาที่Doop -Doo-De-Doop[A Doodlin' Song](3.5/5) ดูเอ็ทคู่กับCy Colemanมีเครดิตเป็นนักแต่งเพลงในอัลบั้มนี้ด้วย ตัวเพลงวินเทจมากๆค่ะให้อารมณ์น่ารักขี้เล่นแบบแจ๊ซซ์ยุค50ดีฟังแล้วนึกถึงหนังขาวดำที่พระเอกเป็นกะลาสีไปตกหลุมรักสาวต่างถิ่นอะไรทำนองนั้นอ่ะค่ะ โรแมนติคมากๆ มาที่สองเพลงทีเนื้อหาเปรี้ยวมากๆอย่าง If I Were A Bell (3.5/5) กับ Teach Me Tonight (3/5) น่าทึ่งนะคะที่สาวเรียบๆหงิมๆแบบป้าสามารถร้องเพลงที่ส่อกามนัยยะเกือบทุกอักษรได้มีจริตจก้านสูงส่งขนาดนี้ หุหุหุ เสือซ่อนเล็บก็ไม่บอกนะตัว
ปิดท้ายด้วย Our Love Is Here To Stay (4/5) แจ๊ซซ์แนวคาบาเร่ต์ที่ให้อารมณ์เหมือนกับตอนเล่นปิดคลับ ตัวเพลงผสานระหว่างความเป็นสแตนดาร์ด สวิงกับอารมณ์แบบบรอดเวย์เข้าด้วยกันได้อย่างดี เป็นอีกหนึ่งเพลงที่ฟังแล้วรู้สึกว่าคืนชีวิตให้แก่ยุคนั้นโดยช่วยวาดจินตภาพให้เราๆเข้าถึงและสนุกไปกับมันได้ คลาสสิคมากๆค่ะ
สรุป
ฤดูร้อนที่ผ่านมาที่เดี๊ยนได้ใช้เวลากับอัลบัมนี้แม้จะเป็นช่วงระยะสั้นๆแต่ก็เป็นช่วงที่สวยงาม โรแมนติคแล้วก็น่าจดจำที่สุดช่วงหนึ่งเลยทีเดียว จำไม่ได้แล้วค่ะว่าไม่ได้สัมผัสฤดูร้อนดีๆแบบนี้มานานเท่าไรแล้ว เป็นเหตุผลหนึ่งที่เดี๊ยนอยากจะบอกท่านผู้อ่านโดยเฉพาะท่านที่รักดนตรีมากๆนะคะว่า "มีอัลบั้มนี้กันไว้ซะ"
แก้ไขล่าสุดโดย Da Nastina เมื่อ Thu Aug 02, 2007 2:45 pm, ทั้งหมด 5 ครั้ง
_________________
