credit : บทความจาก กรุงเทพธุรกิจ โดยคุณโตมร ศุขปรีชา
คุณเคยสงสัยไหมว่า เพราะอะไร ตัวละครใน ‘รักแห่งสยาม’ ถึงต้องเป็นคาทอลิกและเป็นเกย์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : หลายปีก่อน เมื่อไปไอร์แลนด์ ผมเคยถามคุณป้าคนหนึ่งหลังแก้วเหล้าว่า ไอร์แลนด์ซึ่งเป็นดินแดนแห่งคาทอลิกนั้นมีเกย์ไหม และมีการรวมตัวกันของกลุ่มเกย์คาทอลิกเหมือนที่ออสเตรเลียบ้างไหม คุณป้าแทบจะทำหน้าผีหลอกใส่ผม แล้วบอกผมว่า คำสองคำนี้เอารวมกันไม่ได้ เพราะมันไม่ ‘เมคเซนส์’ เอาเสียเลย เกย์กับคาทอลิก มันจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ถ้าคุณเลือกที่จะเป็นเกย์ คุณก็ต้องไม่เป็นคาทอลิก แต่ถ้าคุณจะเป็นคาทอลิก คุณก็ต้องไม่เป็นเกย์
ผมพลันนึกขึ้นได้ ณ บัดดลว่า ถ้าคุณเป็นคาทอลิกอย่างเคร่งครัด ที่เดียวที่ผู้ชายจะหลั่งน้ำอสุจิใส่ได้ก็คือในช่องคลอดของภรรยาที่ ‘รับศีลสมรส’ หรือผ่านการแต่งงานกันมาอย่างถูกต้องตามพิธีต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าแล้วเท่านั้น แม้แต่การทำอัตกามกิริยาหรือใส่ถุงยางยังถือว่าผิดเลย สำมะหาอะไรกับการหลั่งน้ำอสุจิใส่ปากหรือทวารหนักของผู้ชายด้วยกัน ซึ่งแม้โดยมาตรฐานของสังคมรักต่างเพศทั่วไปก็ยังเห็นว่าเป็น Bad Sex
ด้วยเหตุนี้ สำหรับผม การที่ตัวละครใน ‘รักแห่งสยาม’ เป็นคาทอลิก และเป็นเกย์คาทอลิกด้วย จึงเป็นประเด็นที่ท้าทาย ตื่นเต้น และน่าพูดถึงมากที่สุด
เพราะนี่คือหนังไทยเรื่องแรกที่วิพากษ์ความเป็นคาทอลิกที่มีการควบคุมทางเพศอย่างเคร่งครัด เป็นประเด็นที่ไม่มีใครพูดถึง แต่ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของหนัง
1.คริสต์มาสและซานตาคลอส
ทำไมเรื่องคาทอลิกถึงเป็นประเด็นสำคัญที่สุดหรือครับ คำตอบง่ายๆ อยู่ที่ผู้กำกับ ‘จงใจ’ จะทำประเด็นนี้ให้ ‘ดูเหมือน’ เป็นเรื่องที่ ‘พลาด’ ที่สุด และตอนแรกผมก็เกือบจะงับกับดักนี้เข้าให้แล้ว เพราะถ้าดูเผินๆ เราสามารถ ‘ตัด’ ทุกอย่างที่เกี่ยวกับคาทอลิกออกไปได้ทั้งหมด เด็กสองคนไม่จำเป็นต้องมาเจอกันในโรงเรียนก็ได้เพราะบ้านอยู่ใกล้กันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเกิดเรื่องใหญ่ตอนคริสต์มาส ไม่จำเป็นต้องมีฉากเล่นละครตอนพระกุมารประสูติ ไม่จำเป็นที่จะต้องสวดก่อนอาหาร และยิ่งไม่จำเป็นเลยที่ต้องให้มิวไปร้องเพลงในคอนเสิร์ตวันคริสต์มาส การใส่ฉากเหล่านี้เข้ามาแทบจะทำให้หนังมีกลิ่นอายเมโลดราม่าของซีรีส์ฝรั่งดาษดื่นที่ทำกันทุกปลายปีไม่มีผิดเพี้ยน
แต่แล้ว ด้วยความละเอียดในแง่มุมอื่นๆ ของผู้กำกับ (เช่น เรื่องการใช้สี การใช้สัญลักษณ์ผ่านตุ๊กตา ความพิถีพิถันในการแสดง ฯลฯ) ก็ได้ทำให้ผมรู้สึกว่า ยิ่งผู้กำกับใส่เรื่องที่ดู ‘ไม่จำเป็น’ เข้าไปมากเท่าไร กลับยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ามันเป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ มากเท่านั้น
การใส่ประเด็นคาทอลิกลงไปในหนังโดยดูเหมือนไม่จำเป็นตอกย้ำให้คนดูรู้ว่า นี่คือหนังที่ผู้กำกับจงใจจะวิพากษ์ความเป็นคริสต์ และเน้นย้ำลึกลงไปถึงคริสต์แบบคาทอลิกโดยเฉพาะ!
ตอนเด็กๆ ผมเชื่อว่ามิวกับโต้งเรียนอยู่ในโรงเรียนคาทอลิก อาม่าของมิวนั้นอาจไม่ใช่คาทอลิก แต่เป็นคนจีนที่มีฐานะร่ำรวยและได้รับอิทธิพลจากตะวันตกอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นลวดลายวอลล์เปเปอร์ในบ้านหรือการเล่นเปียโน เผลอๆ อากงหรือสามีของอาม่าอาจจะเป็นคาทอลิกก็ได้ แต่หนังไม่ได้กล่าวถึงอย่างชัดเจน เพียงแต่ละไว้ในฐานที่เข้าใจ ทว่าทั้งหมดคือการปูพื้นฐานให้เห็นเหตุผลที่มิวเข้าไปเรียนในโรงเรียนคาทอลิก โดยอาจจะเป็นหรือไม่เป็นคาทอลิกก็ได้
ส่วนโต้งนั้น การอยู่ในครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัดทำให้ที่บ้านต้องส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนคาทอลิกอยู่แล้วคล้ายเป็นไฟลต์บังคับ ถ้าถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าครอบครัวของโต้งเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด คำตอบอยู่ที่การสวดก่อนอาหาร ซึ่งปัจจุบันคาทอลิกส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ปฏิบัติ ยกเว้นในครอบครัวที่เคร่งจริงๆ เท่านั้น
ความงามของหนังเรื่องนี้อยู่ที่ตรงนี้
อยู่ตรงที่ผู้กำกับสร้างปม ‘ความขัดแย้ง’ ที่รุนแรงมากขึ้นมา แต่กลบเกลื่อนให้เหลืออยู่เพียงจางๆ อย่างแนบเนียน แฝงอยู่เฉพาะในบรรยากาศโดยไม่มีใครเอ่ยปากขึ้นมาตรงๆ ซึ่งนั่นทำให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัสกับหัวใจของคนดูได้โดยไม่รู้ตัว
โรงเรียนที่เด็กทั้งสองเข้าเรียน มีชื่อว่าเซนต์นิโคลัส ซึ่งชื่อก็บอกเต็มตัวอยู่แล้วว่าเป็นโรงเรียนคาทอลิก โรงเรียนเซนต์นิโคลัสจึงกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ผมเข้าใจว่าไม่น่าจะมีโรงเรียนชื่อนี้อยู่ในกรุงเทพฯ หรือถ้ามีก็ไม่น่าจะอยู่แถวๆ สยามสแควร์แน่ๆ โรงเรียนนี้จึงเป็นสถานที่สมมติที่ซ้อนอยู่กับสถานที่จริงอย่างสยามสแควร์ และเป็นความจงใจที่ใส่เข้ามาเพื่อให้ผู้ชมสะดุดอย่างชัดเจน
ทำไมต้องเป็นเซนต์นิโคลัส ?
เซนต์นิโคลัสนั้น ที่จริงแล้วเป็นชื่อจริงของ ‘ซานตาคลอส’ ยังไงล่ะครับ
สำหรับคนไทย ซานตาคลอสคือสัญลักษณ์ของคริสต์มาส ขณะที่คริสต์มาสเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาคริสต์!
ครอบครัวของโต้งส่งโต้งเข้าเรียนในโรงเรียนเซนต์นิโคลัส ก็แปลว่าเขาต้องการให้ลูกได้รับการอบรมกล่อมเกลาในแบบคาทอลิกแท้ๆ ที่ต้องมีการเรียนคำสอนทุกวันมาตั้งแต่เด็ก นั่นขยายความให้ลึกขึ้นได้ว่า โต้งเองก็ต้องมี ‘ราก’ แบบคาทอลิก ที่จะมากจะน้อยก็เชื่อในพระเจ้าและมี ‘ความกลัว’ บางแบบฝังอยู่ในหัวใจเหมือนที่ชาวยิวกลัวพระเจ้าจะลงโทษถ้าทำผิด และนั่นส่งผลสะเทือนมาถึงตอนจบของเรื่อง-ตอนจบที่คนดูบอกว่าเศร้าเหลือเกินนั่นแหละครับ
อย่างไรก็ดี การหายตัวไปของแตง-พี่สาวของโต้ง ทำให้ครอบครัวของโต้งเจ็บปวดจนต้องย้ายที่อยู่ เขาจึงถูกพรากไป ไม่ใช่พรากไปจากมิว แต่พรากไปจากโรงเรียนเซนต์นิโคลัส ซึ่งก็คือการพรากไปจากความเชื่อมั่นศรัทธาในแบบคริสตชน เรื่องนี้จะเห็นได้จากการที่ครอบครัวของโต้งไม่สวดก่อนอาหารอีกต่อไป การหายตัวไปของแตงทำให้ทั้งพ่อและแม่ (โดยเฉพาะพ่อ) ไม่เหลือศรัทธาในพระเจ้าและศาสนจักรอีก
เมื่อเราได้พบกับโต้งอีกครั้งในตอนโต เขาจึงเรียนอยู่ในโรงเรียนอะไรสักอย่างที่ผมเชื่อว่าไม่ใช่โรงเรียนคาทอลิก โดยดูจากชุดนักเรียนกางเกงสีดำ (ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นโรงเรียนรัฐบาล) สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาในศาสนาที่ครอบครัวนี้สูญเสียไปซ้ำอีกครั้ง โต้งจึงสามารถเรียนโรงเรียนอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนคาทอลิก
แต่มิว (ซึ่งไม่น่าจะใช่คาทอลิก) ยังเรียนอยู่ที่เซนต์นิโคลัส ปลูกฝังและเติบโตขึ้นมากับดนตรีที่เขารักและได้รับการถ่ายทอดมาจากอาม่า โดยสัญลักษณ์แล้ว เขาจึงยังอยู่กับความเป็นคาทอลิก ไม่ว่าจะเป็นคาทอลิกหรือไม่ก็ตาม