
http://www.facebook.com/hysteriaculture
http://hysteriaculture.wordpress.com/2014/02/01/back-in-the-day-putumayo-jazz-jazz-100-55/
Putumayo : Jazz : Jazz (100% = 5/5)
(จากคอลัมน์Myspace#68ที่เคยเขียนไว้เกือบจะสามปีแล้วนะคะวันนี้คิดถึงเลยขอหยิบมาลงอีกครั้ง)
บรรยากาศอันแสนหวานหอมในอดีตจากดนตรีระดับตำนานที่ขับขานความสุขผ่านตัวโน๊ต เสียงร้องและจิตวิญญาณได้หวนกลับคืนสู่ชีวิตอีกครั้งแม้จะข้ามผ่านหลากวัฒนธรรมและกาลเวลามาเกือบจะศตวรรษแต่มนตร์เสน่ห์ของ แจ๊ซซ์ รากฐานแห่งดนตรีทั้งหมดทั้งมวลดูเหมือนจะไม่มีวันดับสลายไปง่ายๆ ช่วงกลางปีที่ผ่านมา Putumayo ค่ายดนตรีเวิลด์มิวสิคสุดแสนจะน่ารักและกิ๊บเก๋ได้นำอารยธรรมของดนตรีที่รุ่งโรจน์ที่สุดแห่งยุค50นี้มาบรรจุลงแพ็คเก็ตซีดีสวยๆน่ารักน่าสะสมพร้อมกับไว้ลายด้วยลวดลายบนหน้าปกที่นอกจากจะแผงด้วยศิลปะอันเป็นอัตลักษณ์อันยิ่งยวดของค่ายนี้แล้ว .ยังหมายรวมไปถึงความปรารถนาอย่างบริสุทธิ์ใจที่จะให้คอดนตรีทุกๆท่านได้เก็บเอา บรรยากาศและความทรงจำอันแสนเปี่ยมสุขในยามยุคทองที่ดนตรีแจ๊ซซ์ขับกล่อมความสุขในทุกครัวเรือนยามเช้าตลอดจนสุกสกาวในทุกค่ำคืนได้อย่างแยบยล
เพียงแค่ผลงานจากศิลปินแจ๊ซซ์ระดับตำนานที่เราคุ้นเคยกันดีมาบรรจุอัดแน่นอยู่ในซีดีชุดนี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับตอบคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดคนรักดนตรีถึงไม่ควรพลาด? โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฟังที่รักดนตรีแจ๊ซซ์ชนิดหมดหัวใจเพราะอัลบั้มนี้ไม่ได้เหมือนกับอัลบั้มสแตนดาร์ดแจ๊ซซ์รวมฮิตขายแล้วขายอีกชนิดที่มีให้เห็นกันเกลื่อนกลาดแต่โดดเด่นด้วยแพ็คเก็จที่สวยงาม การเรียบเรียงชนิดแทร็คต่อแทร็คและแน่นอนการเล่าเรื่องราวผ่านบุ๊คเลทและดนตรีที่ทำให้อัลบั้มนี้กลายเป็นงานดนตรีที่มีชีวิต
เพียงแค่เปิดคอลเล็คชั่นมากับ My Baby Just Cares For Me หนึ่งในเพลงสุดอมตะนิรันดร์กาลของเจ้าป้า นี่น่า ซีโมนส์ ราชินีเพลงแจ๊ซซ์ขึ้นหิ้งตลอดกาลที่เปิดท่านเชื้อเชิญผู้ฟังอย่างเรียบง่ายด้วยการพรมเพียโนหวานๆพลิ้วไสวคลอเคลียไปกับเสียงโซลเข้มๆอบอุ่นไพเราะขาดใจแค่เพลงเดียวก็สามารถเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีสำหรับแฟนคลับ Putumayo อย่างดิฉันว่า เรากำลังนั่งฟังหนึ่งในซีรี่ยส์ที่ดีที่สุดของค่ายนี้จริงๆ ต่ออารมณ์ความไพเราะได้อย่างเหนือชั้นทันท่วงทีกับ Deed I Do โดย The King Cole Trio ฟังเสียงเพราะๆดุจสวรรค์ประทานของแนท คิง โคลพร้อมกับปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับเพียโนสวิงแค่นี้ก็สามารถปลดปล่อยคุณออกจากโลกแห่งความจริงอันแสนวุ่นวายพลางสลัดความทุกข์ให้หายจากใจไปเป็นปลิดทิ้งก่อนจะมาฟัง I Was Doing All Right กับการจับมือกันระหว่างหลุยส์ อาร์มสตรองและออสการ์ พีเทอร์สันกับเพลงสแตนดาร์ดแจ๊ซซ์เคล้าบลูส์โหยหวนดิบดำเข้มข้น เด็ดดวงสุดๆก็ต้อง It Dont Mean A Thing (If It Aint Got That Swing) งานสแตนดาร์ดแจ๊ซซ์โดยดิว่าเสียงสวย แอนนิต้า โอเดย์ ที่งานดนตรีเป็นแจ๊ซซ์บนอิทธิพลของดนตรีบีบ็อพ40หลังสิ้นอิทธิพลของดนตรีสวิงเคล้าด้วยบลูส์สวยๆและสแตนดาร์ดไลท์แจ๊ซซ์บนเพียโนงามระยับแบบที่นิยมเล่นกับในคลับแจ๊ซซ์ช่วงยุค40-50นั่นแล สำหรับผู้ฟังแจ๊ซซ์ยุคใหม่ที่ชอบงานเพียโนแจ๊ซซ์หวานๆสไตล์นอร่าห์ โจนส์แนะนำให้ลองฟัง They Say Its Spring โดย บลอสซั่ม เดียร์รี่ย์ ฟังแล้วผ่อนคลายสบายใจประหนึ่งหลุดไปโบยบินในโลกเหนือจินตนาการ ปิดอัลบั้มด้วย Lover Come Back To Me จากเจ้าป้า บิลลี่ ออลิเดย์ ตำนานดนตรีแจ๊ซซ์ตลอดกาลลองฟังชั้นเชิงในการอิมโพรไวซ์บนเสียงบลูส์หม่นๆเข้มๆของป้าที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในการอิมโพรไวซ์ที่มีเสน่ห์ที่สุดในอาณาจักรดนตรีแจ๊ซซ์ซึ่งเรียบง่ายและอาจจะไม่ได้ทรงพลังหวือหวาแบบพวกเอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์แต่มันทำให้เราได้รู้ว่าการอิมโพรไวซ์แบบสามัญบนดนตรีสแตนดาร์ดแจ๊ซซ์นั่นมีขอบเขตุก้าวไปได้ไกลแค่ไหน สมกับนิยามของดนตรีแจ๊ซซ์ที่เรียบง่ายเหมือนจะเยือกเย็นหากแต่แอบแฝงไว้ด้วยมนตร์เสน่ห์ฉกาจฉกรรจ์เร่าร้อนประดุจไฟ