และขอกล่าวเลยว่าสิ่งที่จะปรากฏในรีวิวต่อไปนี้ จขกท.ไม่มีเจตนาเรื่องเหยียดสีผิว ชนชั้น และเชื้อชาติ แต่ต้องการให้ทุกคนได้เห็นภาพความเป็นไปของสังคม และพยายามจะให้ศัพท์ให้ซอฟท์ที่สุดเพื่อให้ไม่เกิดความขัดแย้ง ในบางเรื่องอาจจะมีการวกกลับมาพูดใหม่ แต่ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกัน และไม่สามารถนำมาสรุปรวบยอดจะประเภทได้เสียทีเดียว หากส่วนใดที่ทำให้ไม่พอใจ หรือไม่ดีต้องขออภัยผู้อ่านด้วยสัตย์จริง
ลองสังเกตดูรอบตัวสิ เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน วิถีความเป็นอยู่เจริญขึ้น สังคมที่เคยคับแคบ มีการกีดกัน ปิดกั้นก็ถูกเปิดออกกว้างขึ้น กำแพงที่คั่นความแตกต่าง ไม่ว่าจะสีผิว เชื้อชาติ ฐานะ การศึกษา หรือแม้แต่เพศ ได้ถูกทำลายลง แต่กว่าโลก สังคมและอารยธรรม ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการปฏิสังขร ต้องรอนแรมเดินทางพบพานทั้งสิ่งสวยงามและสิ่งที่ไม่น่าพิสมัยนานัปการที่โลกสั่งสมมา จนก้าวสู่โลกยุคโลกาภิวัตน์ได้ เฉกเช่นเดียวกับการเดินทางของดนตรี
รู้กันมั้ยว่าบนความแตกต่างด้านดนตรีที่ครองใจสังคมผิวไม่มีสียันสังคมผิวสีต่างก็มีเหง้าศักราช และเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแห่งเดียวกัน ทวีปที่มีประชากรยากจนหิวโหย อากาศร้อนแห้งผาก มีผู้คนอดยากมากมาย ทวีปที่ผู้คนต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ทวีปแอฟริกา บางคนอาจจะไม่แปลกใจ บางคนอาจจะฉงนว่ามันมีที่มาที่ไปอย่างไร ใครจะไปเชื่อว่าชาวแอฟริกันได้สร้างสิ่งสวยงามขับกล่อมหล่อหลอมจิตใจมนุษยชาติ จขกท.จะพาทุกคนร่องเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปมาขุดรากเหง้าต้นกำเนิดวัฒนธรรมดนตรีอันยิ่งใหญ่ที่แอฟริกาตะวันตกกัน
จุดเริ่มต้น การก่อกำเนิด
วิถีชีวิตอันเรียบง่าย คละความแร้นแค้น เคล้าการเล่นสนุก ส่งผลให้การถ่ายทอดบทเพลงของชาวแอฟริกันออกมาในทางปลดปล่อย สบถ หรือแม้กระทั้งการยั่วล้อ เหล่านี้แหละจุดเริ่มต้น การขับร้องดั้งเดิมของชนพื้นเมืองแอฟริกันเราเรียกว่า ขนบในการใช้เพลงพูด ก่อนจะพูดถึงส่วนต่างๆของขนบในการใช้เพลงพูด ขอกล่าวถึงองค์ประกอบพื้นฐานดนตรีของชาวผิวสีเพื่อให้ทำความเข้าใจกันซะหน่อย
องค์ประกอบหลักๆดนตรีของชาวแอฟริกัน เน้นสิ่งที่อยู่คู่กับวิถีการดำรงชีพ การละเล่น และสังคมของพวกเขา
ทั้งหมดตรงนี้แหละจะถูกนำไปป็นแม่แบบดนตรีในยุคต่อไป ซึ่งได้แก่
- ร้องโต้ตอบ
- โหนเสียง
- หลากทำนอง
- ด้นสด
- ร้องร่วม
- ตบมือตีมือ กระทืบเท้า
- ทำนองหลากหลาย
- ลัดจังหวะ
- เชื่อมโน้ต แผดเสียง ตะโกน
- การเล่นซ้ำ
- การร้องและเต้น
- การมีส่วนร่วมของผู้ชม
ทำนองหลากหลาย กับ หลากทำนอง จขกท. ยังไม่รู้แน่ชัด เข้าใจว่ารายละเอียดและวิธีใช้ที่ค่อนข้างแตกต่างกัน หลายคนคงจะมองออกแล้วว่า แต่ละข้อคือแม่แบบของดนตรีแนวใดบ้างในปัจจุบัน ทีนี้มาพูดถึงขนบในการใช้เพลงพูดดีกว่า
กรีโอต์ (Griot) - เป็นวัฒนธรรมการเล่าเรื่องราวของกวีพื้นบ้านแอฟริกันตะวันตก นี่ถือเป็นต้นกำเนิดศิลปะการใช้คำพูดในอเมริกาเลยก็ว่าได้
ศิลปะการใช้คำพูด - จำแนกยิบย่อยออกเป็นอีก 4 แบบ มีชื่อเก๋ๆสั้นๆแต่ที่มาล้วนดุดันไม่แพ้กัน
- Toast การด้นกลอนสด
- Boast การโอ้อวดคุยโว
- Signifying การใช้คำพูดเจ็บแสบกระอักทรวง เพื่อยั่วยุฝ่ายตรงข้าม
- Dozen อันนี้แรงหน่อย เป็นวิธีการใช้ดูถูกดูแคลนครอบครัวฝ่ายตรงข้ามกันเลยทีเดียว
บทเทศนา - ตรงนี้จะมีส่วนความเชื่อตามวิถีชาวบ้านมาเกี่ยวข้อง เช่นเรื่องจิตวิญญาณ การดำรงชีพ
สแก็ต (Scat) - การด้นคลอจังหวะแบบไม่เป็นคำ ไม่มีความหมาย แบบที่ป้าเอลล่า ฟิทซ์เจอรัลด์ชอบใช้ในเทคนิคการร้อง
กลอนพูด - เป็นการเรียบเรียงคำพูดด้วยวาทะศิลป์ แล้วกล่าวสดต่อหน้าผู้ชม จะพูดไปเรื่อยๆ เร็วๆ คล้ายๆการแร็พแต่ไม่มีจังหวะหรือทำนอง อาจมีดนตรีประกอบหรือไม่มีก็ได้ กวีที่ปรากฏผลงานด้านกลอนพูดได้แก่ Nikki Giovanni, The Last Poets, Amiri Baraka และ Gil Scott-Heron
พูดแล้วกลัวจะไม่เห็นภาพหรือนึกไม่ออกว่ากลอนพูดมันเป็นยังไง ลองดูคลิปข้างล่างนี้เพื่อความกระจ่าง
เอ็มซี + แร็พ - แน่นอนว่าสองอย่างนี้มีเคมีและกายภาพที่สัมพันธ์กัน เป็นของกันและกันก็ว่าได้
แร็พนำเอาลักษณะกลอนพูด มาพูด ขับร้องให้ลงจังหวะ และค่อนข้างเร็ว แต่การแร็พมันก็ไม่ใช่พูดซะทีเดียว ยังมีจังหวะจะโคนเข้ามาเป็นส่วนประกอบเนื้อหาการแร็พจะคล้องจองกันและเข้ากับจังหวะดนตรี
ส่วนเอ็มซีที่บ้านเราชอบเรียกกันว่า rapper นั้น MC จะเหนือชั้นกว่าแร็พเปอร์ทั่วไป มีทักษะในด้านเล่นคำ, metaphor คำอุปมา คำเปรียบเทียบ, simile การอุปมาอุปไมย, punchlines (การใช้คำพูดโจมตีฝ่ายตรงข้ามแบบฟรีสไตล์), multis การเชื่อมหลายๆคำให้คล้องจองกัน, การลื่นไหล สลับขึ้นลง เป็นต้น
ภาค 2 -> http://www.forwardmag.com/webboard/post-830783.html#830783
แก้ไขล่าสุดโดย Stereosonic เมื่อ Sat May 22, 2010 5:34 pm, ทั้งหมด 1 ครั้ง
_________________
