1. The Ballad of Samuel Layne
2. Prekestolen
3. Metamorphosis
4. Blind Faith
ในยามปกติ วงโปรเกรสสีฟร็อคส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แต่ในกรณีของ Magenta นั้นจะพิเศษหน่อย เพราะพวกเขามาจากเวลส์ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ซึ่งแถบนั้นจะมีวงตำนานบริทป็อปอย่าง Manic Street Preachers วงโพสฮาร์ดคอร์โจ๊ะๆอย่าง Funeral for a Friend หรือที่ผ่าเหล่าหน่อยก็คือ Jesu วงโพสเมทัลสุดหนืดที่นำโดยจัสติน บรอดริค และอีกหลายๆศิลปินที่แจ้งเกิดจากที่นั่น
Magenta นั้นเป็นหนึ่งในโปรเจ็คหลายๆชิ้นของร็อบ รีด ที่ก้อตั้งขึ้นเมื่อปี 2001 หลังจากประสบความสำเร็จกับโปรเจ็ค Trippa ซึ่งเขาได้ร่วมงานกับคริสติน่า บูธ นักร้องนำสาวที่เขาในเชิญมาร่วมวงในครั้งนี้ด้วย ส่วนตัวร็อบนั้นก็จะอยู่ในตำแหน่งมือคีย์บอร์ดเป็นหลัก ทั้งเขาและเธอก็เป็นสองสมาชิกหลักของวงที่อยู่มาจนปัจจุบัน โดยมีคริส ฟรายเป็นมือกีต้าร์มาเสริมทัพ ส่วนวมาชิกอื่นๆในปัจจุบันก็จะมี แดน ฟราย (เบส) คีแรย เบย์ลีย์ (กลอง) และโคลิน เอ็ดเวิร์ดสเป็นมือกีต้าร์คนที่สอง (ชื่อเหมือนกับอดีตแชมป์ซูเปอร์ไบค์ชาวอเมริกันที่ตอนนี้มาลงแข่งรุ่น MotoGP ร่วมกับวาเลนติโน รอสซี่โดยรถที่เขาใช้นั้นก็เป็นของยามาฮ่าเหมือนกันอีกด้วย)
ในตอนนี้พวกก็ออกอัลบั้มมาแล้ว 7 ชุดด้วยกันและชุดล่าสุดนั้นก็คือ Metamorphosis ซึ่งออกมาช่วงกลางปีที่แล้ว โดยไลน์อัพนั้นดูจะแปลกตาไปจากปัจจุบันเสียหน่อย เนื่องจากยังไม่มีมือกลองประจำวงในช่วงที่อัดเสียงกันละกระมัง ซึ่งอาจจะทำให้นึกถึงชาร์ลี เซเลนี มือกลองมากฝีมือที่ไปช่วยอัดเสียงให้ Suspyre ในอัลบั้มล่าสุด When Time Fades… ซึ่งถือว่าเป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดของวงนั้น ส่วน Metamorphosis นี้ก็มีอดีตสมาชิกของวงมาช่วยเล่นกีต้าร์ให้อีกด้วย
งานดนตรีของ Magenta ในชุดนี้จะเน้นความเป็นซิมโฟนิกมากพอสมควร ซึ่งอิทธิพลหลักๆน่าจะมาจาก Yes และ Genesis โดยจะมีจุดเด่นอยู่ที่ลีดกีต้าร์ และวงเครื่องสายห้าชิ้นที่เรียกมาเพื่อเสริมทัพให้กับดนตรีในชุดนี้โดยเฉพาะ แต่อัลบั้มนี้มีเพลงอยู่แค่สี่เพลงเท่านั้นเอง โดยที่จะเป็นเพลงยาวสลับกับเพลงสั้น เพลงคี่ (1 และ 3) นั้นจะเป็นเพลงที่ยาวกว่ายี่สิบนาที (พวกท่านจะทำเพลงยาวกันไปถึงไหนล่ะนี่) งวดนี้ร็อบแกรับหน้าที่เล่นดนตรีหลายชิ้นมาก นอกจากคีย์บอร์ดแล้วยังมีกีต้าร์ (ทั้งไฟฟ้าและโปร่ง) แมนโดลิน เรคอร์เดอร์ และเบส และยังมีเครื่องเป่าเสริมมาอีก เป็นเครื่องเป่าคล้ายๆปีสก็อต แต่ว่าถือกำเนิดมาที่ไอร์แลนด์ เรียกว่า อิลินไปป์ (Uilleann Pipes) ซึ่งวิธีการสร้างเสียงออกมานั้นก็ดูจะคล้ายๆปี่ส็อกตเลยทีเดียวละ และจะว่าไปแล้ว ด้วยความยาวของเพลง พวกเขาและเธอจะต้องสร้างเพลงให้ชวนติดตามอยู่ตลอด ซึ่งก็คงจะเป็นงานใหญ่หน่อยสำหรับพวกเขา
ภาคกีต้าร์ส่วนใหญ่จะเน้นการลีดเป็นหลัก เพื่อสร้างเมโลดี้ให้ไพเราะและเหมาะสมกับอารมณ์ในแต่ละท่อนเพลง และซาวด์กีต้าร์ที่ใช้นั้นก็ดูจะให้มาตรฐานอังกฤษเลย โดยที่จะไม่เน้นเสียงแตกมากนัก ทำให้สุ้มเสียงที่ออกมานั้นกลมกลืนกับตัวเพลงและดูเป็นธรรมชาติ ส่วนการโซโลนั้นจะเน้นเมโลดี้หวานๆเสียมากซึ่งจะติดหูได้ง่าย แต่จะมีริฟแซมเข้ามานิดหน่อยจากกีต้าร์ที่ดร็อปเสียง และกีต้าร์โปร่งจากพี่ร็อบ ซึ่งเป็นสีสันให้กับดนตรีเพราะๆของวงได้เป็นอย่างดี ส่วนคีย์บอร์ดนั้นก็มีลูกเล่นที่หวือหวาพอสมควร แต่ก็ไม่ถึงกับหลุดคอนเซ็ปต์มาก เสียงที่พี่ร็อบใช้นั้นค่อนข้างหลากหลายทีเดียว แต่เสียงที่ใช้โซโลนั้นจะดูโดดเด่นที่สุดในบรรดาแล้วละ และการเล่นเบสของแกนั้นก็เน้นการเสริมภาคดนตรีให้แน่นขึ้นมากกว่า แต่ก็ตอดลูกเล่นเล็กๆน้อยๆพอเป็นพิธี สำหรับกลองนั้นก็เน้นแพทเทิร์นที่หลากหลายและก็ใส่ลูกเทคนิคเพื่อสร้างสีสันในเพลงจังหวะช้าถึงปานกลางของวง และชบทที่จะต้องหนักแน่นก็ทำได้ดีเช่นกัน แต่เทคนิคนั้นอาจจะไม่ได้ใช้มากเท่าบางวง เพื่อความสวยงามของภาคดนตรีเป็นหลัก ส่วนเครื่องดนตรีเสริมอย่างอิลินไปป์และเครื่องสายอีกห้าชิ้นนั้นก็มีบทบาทใช่ย่อย อิลินไปป์เอาไว้สร้างเมโลดี้แบบพื้นเมืองเพื่อเสริมบรรยากาศ ส่วนเครื่องสายนั้นจะเล่นประสานกันคอยเสริมความอลังการให้กับภาคดนตรี ส่วนเสียงร้องของคริสติน่านั้นมีความไพเราะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และยังมีความสดใสในตัวอีกด้วย เรียกว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของเธอเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ เสียงร้องประสานก็ทำได้อย่างไพเราะเช่นกัน
เพลงยาวๆบางทีก็เป็นดาบสองคมได้ เพราะถ้าพวกเขาทำภาคดนตรีได้ไม่ดี เพลงก็จะน่าเบื่อไปเลย แต่ในชุดนี้ ถือว่าพวกเขาทำได้ดีมาก โดยเฉพาะกับเพลงไตเติลแทร็คที่ยาวถึง 23 นาที ที่ให้อารมณ์ที่คึกคักกว่า และคริสติน่าก็ได้โชว์พลังเสียงอย่างเต็มที่ก็เพลงนี้เองละครับ The Ballad of Samuel Lane ซึ่งเป็นเพลงเปิดอัลบั้มที่จะเน้นความไพเราะ (จนบางทีก็ชวนง่วงนอน) มากกว่า สำหรับเพลงสั้นๆอย่าง Prekestolen ที่ยาวแค่สามนาทีก็จะมีบทบาทของคีย์บอร์ดกับอิลินไปป์ที่เด่นขึ้นมาหน่อย ส่วนเพลงสุดท้ายของอัลบั้มอย่าง Blind Faith นั้นก็ให้ความรู้สึกที่สดใสกว่าเพลงชื่อเดียวกันของ Dream Theater เสียอีก (ฮา) และเพลงนี้ก็อาจจะทำให้นึกถึงวงยุค 80s อย่าง Jadis หรือ IQ มาผสมกับดนตรีซิมโฟนิกแบบ Yes แล้วมีผู้หญิงมาร้องนำ ส่วนท้ายๆเพลงนั้นก็ดูจะเป็นท่อนพีคสุดท้ายที่สวยงามและอลังการมากทีเดียว
สรุปแล้ว งานชุดนี้ผมให้สี่ดาว เนื่องจากติดตรงที่ The Ballad of Samuel Lane ที่ชวนง่วงไปนิด แต่ถ้าหากเรามองข้ามจุดนั้นไป งานของพวกเขาก็จะเป็นหนึ่งในงานที่อลังการที่สุด (จะเป็นรองก็แค่ Transatlantic นั่นละ) และสดใสที่สุดในยุค 2000 ก็เป็นได้