Genesis
1. Brickwork I: Leaving Entropia
2. Brickwork II: This Heart of Mine
3. Brickwork III: Song for the Innocent
4. Brickwork IV: Descend 1
5. Brickwork V: Leaving Entropia
Genesister
6. Winning a War
7. Reconciliation
8. Dryad of the Woods
9. Oblivion Ocean
10. Undertow
11. Chainsling
Genesinister
12. Brickwork VI: Ascend 1
13. Brickwork VII: Ascend 2
14. Brickwork VIII: Second Love
15. Brickwork IX: Ashes
16. Brickwork X: Descend 2
วันนี้ (5 มิ.ย.) ก็เป็นวันพิเศษวันหนึ่งของสมาชิกใน Pain of Salvation นี้ด้วย สมาชิกคนที่เป็นเข้าของวันเกิดในวันนี้คือแกนนำของวงอย่างพี่แดเนียล กิลเดนโลว์นั่นเอง ในวันนี้แกก็อายุ 35 ปีเต็มแล้ว (เกิดปี 1973) อย่างไรทางผู้เขียนก็ขอให้พี่แดเนียลอายุมั่นขวัญยืน และก็ขอให้ครอบครัวอยู่กันไปนานๆจนชั่วชีวิตนะครับ (พี่แดเนียลแต่งงานแล้วและมีลูกชายหนึ่งคน) และเนื่องด้วยวันเกิดของพี่แดเนียลนี้เอง ผมจึงเลือกงานของ Pain of Salvation มาเขียนสักอัลบั้ม และอัลบั้มที่ว่าจะนำมาบรรยายต่อไปนี้ก็คือ 12:5 ซึ่งถือว่าเป็นอัลบั้มแสดงสดชุดแรกของพวกเขาในปี 2004 และยังเป็นอัลบั้มที่พวกเขาเล่นกันเป็นอะคูสติกเสียด้วย เรียกว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว สำหรับสมาชิกในชุดนี้ก็ยังคงเป็นสมาชิกเดิมอยู่คือพี่แดเนียล, โยฮัน ฮอลล์เกร็น (กีต้าร์, ร้องประสาน), เฟดริก เฮอร์แมนสัน (เปียโน), โยฮัน ลังเกลล์ (กลอง) และคริสตอฟเฟอร์ น้องชายในตำแหน่งเบส (คริสตอฟเฟอร์ถูกเชิญออกจากวงหลังจาก Be เป็นต้นมา ส่วนลังเกลล์นั้นขอลาออกจากวงหลังจากทัวร์ Scarsick เพื่อไปใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น)
สำหรับเพลงในชุดนี้ก็จะหยิบมาจากอัลบั้มก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ Entropia มาเรื่อยๆจนถึง Remedy Lane แต่ว่าไม่มีเพลงจากชุด One Hour by the Concrete Lake อยู่ในลิสเลย (และเพลงจากชุดนั้นไปอยู่ในดีวีดีแสดงสดตัวหลังสุด The Second Death of… ที่เพิ่งวางแผงไปเมื่อ มี.ค. ที่ผ่านมา) และชุดนี้ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปของคอนเซ็ปต์ของแต่ละชุดที่ผ่านๆมา (ยกเว้น One Hour…) และนำมาเรียบเรียงใหม่โดยแบ่งออกเป็นสามส่วน (แต่ว่าในคอนเสิร์ตจริงๆนั้นจะมี Ashes แบบต้นฉบับเป็นอังกอร์ด้วย) และด้วยความที่งานนี้เป็นอะคูสติกนั่นเอง คราบความเป็นโปรเกรสสีฟเมทัลจึงไม่เหลืออยู่เหลือ แถมในการแสดงสดนี้คุณเฟดริกก็ได้เอาฮาร์ปซิคอร์ด (ฮาร์ปซิคอร์ดคือเปียโนโบราณนั่นเอง) มาใช้ด้วย เรียกว่าอาจจะได้อิทธิพลมาจากคลาสสิกมาบ้างไม่มากก็น้อยละนะครับ
สำหรับภาคกีต้าร์คู่นั้นถือว่าทำหน้าที่ได้โดดเด่นพอสมควรโดยคนหนึ่งจะเป็นพาวเวอร์คอร์ด และอีกคนจะทำหน้าที่สร้างเมโลดี้ ซึ่งก็ทำไพเราะหมดจดในทุกเพลง (อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆว่าพี่แดเนียลกับฮอลล์เกร็นเล่นในส่วนไหน เนื่องจากบางทีทั้งคู่ก็สลับหน้าที่กันด้วย) แต่ว่าท่อนบรรเลงพวกเขาก็ทำได้อย่างดุเดือดเช่นกัน ส่วนเบสของคริสตอฟเฟอร์นั่นก็จะใช้อะคูสติกเบส (บางทีอาจจะเป็นดับเบิ้ลเบสก็ได้) และบางทีแกก็ใช้เชลโลบ้างถ้าหากต้องการเสียงที่สูงกว่าเบสหน่อย (แกใช้ดีดบ้าง สีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะดีดเอามากกว่า) ซึ่งทั้งเสียงเบสกับเชลโลที่แกใช้นั้นก็เป็นตัวเสริมทำนองได้อย่างดีเลยทีเดียว
เปียโนของคุณเฟดริกนั้นต้องยอมรับเสียงที่ออกมานั้นใสมากจนบางทีก็น่าคนลุกทีเดียว และด้วยอารมณ์เพลงของวงที่ออกไปทางหม่นหมอง ทำให้เสียงเปียโนที่แกเล่นนั้นไปเสริมได้อย่างเต็มที่ ส่วนฮาร์ปซิคอร์ดที่โผล่มาเด่นๆก็ตอนที่บรรเลงใน Brickwork พาร์ตหลังๆ สำหรับกลองนั้นก็ให้อารมณ์ที่ “แจ๊ส” บ้างนิดหน่อย เนื่องจากลังเกลล์แกปรับหนังกลองให้เหมาะกับการแสดงสดนี้ด้วย (บางทีแกอาจจะใช้แส้ด้วยก็ได้…?) แต่อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่หย่อนไปกว่ากันสำหรับชุดนี้คือ เสียงร้องประสานนั่นเอง สังเกตได้เลยครับ สมาชิกแทบทุกคนจะร้องประสานเสียงกันอย่างพร้อมเพียงกันมาก โดยมีพี่แดเนียลเป็นเสียงหลัก ซึ่งเสียงของแกก็เด่นกว่าใครเพื่อนอยู่แล้ว แต่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยที่เพลง Chainsling ตั้งแต่ท่อนสร้อยท่อนแรกเป็นต้นมา ฮอลล์เกร็นได้ทำหน้าที่ร้องนำเป็นเพลงแรกและเพลงเดียว (แต่เวอร์ชั่นสตูดิโอนั้นยังเป็นพี่แดเนียลอยู่) ซึ่งแกก็ทำหน้าที่ได้ดีไม่แพ้พี่แดเนียลเช่นกัน
สำหรับเพลงเด่นๆในชุดนี้ก็ถือว่าเลือกยากมากพอสมควร เพราะเพลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงเด่นๆในแต่ละอัลบั้มอยู่แล้วด้วย แต่ในวันนี้ผมขอเริ่มจาก Undertow ก่อนก็ละกัน เพราะว่าเพลงนี้พวกเขาเล่นกันหลายเวอร์ชั่นจัด ในเวอร์ชั่นสตูดิโอก็ออกจะธรรมดาไปหน่อย มาในเวอร์ชั่นอะคูสติกนี้ พวกเขาได้ใส่รายละเอียดของกีต้าร์กับเบสไปมากทีเดียว พร้อมกันนั้นเอง ในช่วงท่อนท้ายของเพลง (Let me break, let me bleed…) เสียงร้องของพี่แดเนียลกับฮอลล์เกร็นนั้น Unison ด้วยกันจนกลมเกลียวเลยทีเดียว และอีกหนึ่งเวอร์ชั่น ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นที่ผมชอบที่สุด ณ ขณะนี้ ก็คือเวอร์ชั่นแสดงสดตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมาจะมีพีคท่อนก่อนสุดท้าย (I’m alive…) ก่อนที่เหล่าเครื่องดนตรีจะลดลงให้เสียงร้องของพี่แดเนียลเด่นขึ้นมาในท่อนท้าย โดยท่อนนี้พี่แกจะสามารถปลดปล่อยอารมณ์ได้เต็มที่ ถ้าใครมีดีวีดีตัวล่าสุดลองไปดูได้เลยครับ (และใน Youtube ก็มีเช่นกัน) อ้อ ในเวอร์ชั่น 2007 จะเปลี่ยนคีย์จาก D minor มาเป็น G minor และ C minor แทนนะครับ
ส่วนเพลงเด่นๆในเวอร์ชั่นอะคูสติกนี้ก็จะมีบรรดา Brickworks ทั้งหลายที่เอาหลายเพลงๆมารวมกันเป็นเมดเลย์ (Brickworks II ไปจนถึง IV มีในดีวีดีตัวหลังสุดด้วย) Brickworks เซ็ตแรกจะเป็น Leaving Entropia, This Heart of Mine และ Song for the Innocent (III และ IV) จบด้วย Leaving Entropia อีกรอบ ส่วนเซ็ตหลังนั้นจะเด่นตรงที่มีท่อนบรรเลงอยู่สองท่อนโดยลำนำขึ้นมาเป็นท่อนอินโทรจากเพลง Idioglossia และต่อด้วยท่อนเบรคบรรเลงจาก Her Voices และต่อด้วย Second Love (ต้นฉบับ) และ Ashes ที่เปลี่ยนจากคีย์ไมเนอร์เป็นเมเจอร์แทน ส่วนท่อนสุดท้ายก็อิมโพรไวส์กันสุดฤทธิ์เลยละ
สรุปแล้ว วิธีการนำเพลงโปรเกรสสีฟมาทำเป็นอะคูสติกของ Pain of Salvation นั้นค่อนข้างจะละเอียดมากทีเดียว พวกเขาสามารถนำเพลงเด่นจากอัลบั้มเก่าๆมาทำให้ฟังง่ายและมีความผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ถ้าหากเรายังไม่ได้ฟังงานเก่าๆของวงแล้วมาฟังชุดนี้ก็จะเข้าถึงเพลงได้ไม่ยากเลย แล้วคงจะเกิดอาการที่อยากหาอัลบั้มเก่าๆเหล่านั้นมาฟังอีกเป็นแน่แท้เชียวละ สำหรับคะแนนที่ผมจะให้อัลบั้มนี้ก็คงจะเป็นห้าดาวเต็มนั่นละครับ