ในที่สุดก็ได้ฤกษ์ออกอัลบั้มใหม่กันเสียที สำหรับ Dream Theater ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ก็มีคนพูดถึงกันอย่างไม่ขาดสายกันเลยทีเดียว แต่ก่อนหน้านั้นพวกเขาก็ได้ออกซิงเกิ้ลมาก่อนหนึ่งเพลงคือ A Rite of Passage ซึ่งถ้าใครได้ดูคลิปแสดงสดของเพลงนี้แล้วคงจะทราบละครับว่าน้ารูเดสนั้นใช้ไอโฟนโซโลด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกตามาก พักหลังๆนี้น้าแกดูจะมีของเล่นใหม่มามากพอสมควรเลยละ สำหรับไอโฟนโซโลที่ท่านได้ดูในกันคลิปนั้นเป็นโปรแกรมที่เรียกว่า Synthpond และน้าแกก็ยังมีของเล่นแปลกๆอย่าง Yamaha Tenori-On อีก และดูเหมือนในคราวนี้ เฮียพอร์ตนอยแกจะตั้งใจโปรโมตอัลบั้มอย่างเต็มที่เลยละ แกถึงกับมาอธิบายถึงตัว Deluxe Boxset ของงานชุดนี้เองอีกด้วย และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปดูรายละเอียดของดนตรีภายในอัลบั้มนี้กันเถอะ
อัลบั้มนี้เห็นเฮียพอร์ตนอยโม้เอาไว้ว่าซาวด์จะเหมือนกับการเอาอัลบั้มเก่าๆมารวมกัน พอได้ฟังจริงๆนั้นซาวด์ก็เหมือนจะถอดแบบมาจาก Six Degrees of Inner Turbulence กันเลยทีเดียว แต่ว่าเรื่องรายละเอียดโดยรวมของภาคดนตรีนั้นถือว่าดูเข้มข้นกว่า และมีความดุดันมากกว่าเดิมอีกด้วย แต่ในชุดนี้พวกเขาก็มีเพลงสั้นๆช้าๆให้ร้องตามกัน และก็มีซิงเกิ้ลที่ฟังติดหูง่ายและชวนโยกหัวอีกเช่นเดิม (หลังๆนี่พวกเขาจะปล่อยซิงเกิ้ลออกมาอัลบั้มละเพลงสองเพลง) และที่สำคัญกว่าคือ ซาวด์ของอัลบั้มนี้ดูจะเป็นเอกภาพมากกว่างานชุดก่อนอย่าง Systematic Chaos เสียด้วย งานนี้ถือว่าพวกเขาอัดความเป็นเมทัลเข้าไปอย่างเต็มเปี่ยมเลยทีเดียว ไม่มีซาวด์แบบ Muse เข้ามารบกวนเสียเท่าใดนัก แต่ถ้าคุณซื้อแบบสามซีดีหรือ Boxset ก็จะได้แผ่นที่รวมเพลงคัฟเวอร์ และอีกแผ่นที่เป็นเพลงบรรเลงอีกด้วย ถ้าใครชอบฟังเพลงคัฟเวอร์ก็ลองซื้อแบบสามซีดีหรือ Boxset ได้ครับ
สำหรับกีต้าร์ของพี่เปตรุชชี่คราวนี้จะเน้นหนักเป็นพิเศษทั้งริฟที่คมเข้มและท่อนลีดที่มีทำนองไพเราะแต่ทรงพลัง ถึงเวลาแกโซโลก็ยังคงเล่นได้อย่างรวดเร็วและดุเดือดเป็นลายเซนต์ประจำตัว แต่ว่าดูในชุดนี้พี่แกจะเล่นโซโลได้ “หวาน” ขึ้นกว่าเก่าด้วย อ้อ และท่อนคลีนของแกก็เริ่มจะมีบทบาทมากขึ้นอีกด้วย ส่วนคีย์บอร์ดของน้ารูเดสนั้นดูจะมีบทบาทมากพอๆกับกีต้าร์ของพี่เปตรุชชี่เลยทีเดียว ในชุดนี้น้ารูเดสจะเน้นการสร้างซาวด์แบบซิมโฟนิกเพื่อให้ดนตรีดูอลังการมากขึ้น สำหรับเพลงที่เด่นๆในการสร้างซาวด์แบบนี้ก็มีอยู่สองเพลงคือ A Nightmare to Remember และ Wither ส่วนไลน์เปียโนของน้าแกก็ดูจะขาดไม่ได้เช่นกัน และการโซโลก็ยังคงเป็นลายเซนต์ของแกเช่นเดิม แต่คราวนี้แกจะมีของเล่นใหม่อย่างเจ้า Synthpond ในไอโฟนมาแจมด้วย เบสของน้าเมียงนั้นยังคงเน้นการคล้อยตามภาคดนตรีพร้อมกับการแทรกลูกเล่นเล็กๆน้อยๆเช่นเดิม แต่ซาวด์อาจจะหนาขึ้นกว่าเดิมเพราะตอนนี้แกใช้ MusicMan หกสาย ส่วนเฮีบพอร์ตนอยก็ยังมีแพทเทิร์นที่เป็นเอกลักษณ์เช่นเดิม ซาวด์หนักแน่นมากขึ้น แต่ซาวด์การเหยียบกระเดื่องนั้นดูแข็งแกร่งกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด (หาฟังได้ใน A Nightmare to Remember) ส่วนเสียงร้องของน้าเจมส์ก็ยังคงรักษามาตรฐานได้อย่างดีเช่นเดิม
สำหรับแต่ละเพลงในงานชุดนี้ ผมจะขอบรรยายแบบเพลงต่อเพลงเลยก็ละกันนะครับ
1. A Nightmare to Remember (16:10)
ผมลืมบอกไปอีกอย่างครับว่างานชุดนี้มีแค่หกเพลง และเพลงส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพลงยาวๆเสียทั้งนั้นเลยละ โดยเริ่มจากเพลงแรกนี้ ซึ่งพี่เปตรุชชี่เขียนขึ้นมาจากเรื่องอุบัติเหตุทางรถบนต์ที่เคยประสบมาเมื่อครั้งยังเด็ก เพลงนี้แค่อินโทรขึ้นมาก็อลังการแล้วครับ ด้วยซาวด์คีย์บอร์ดแบบซิมโฟนิก การรัวกระเดื่องเฮียพอร์ตนอย และการสาดกีต้าร์ของพี่เปตรุชชี่ ที่ทำให้นึกถึงวงซิมโฟนิกแบล็คระดับตำนานอย่าง Emperor และพอขึ้นท่อน Verse แรกก็มีการเร่งจังหวะแล้วค่อยๆลดลงมาเรื่อยๆจนถึงช่วง Stunned & bewildered… ช่วงนี้เองที่เฮียพอร์ตนอยโชว์รัวกระเดื่องอีกแล้วครับท่าน แต่ท่อนเบรคที่เป็นท่อนช้านั้ก็เรียกว่าทำได้อย่างไพเราะทีเดียว โดยเฉพาะท่อนประสานในประโยคที่ว่า In peaceful sedation I lay half awake… ก่อนที่จะเร่งเครื่องขึ้นมาในช่วงโซโลของกีต้าร์และคีย์บอร์ด อ้อใช่ มีโชว์ Continuum ด้วย และก็มีอีกท่อนที่เฮียพอร์ตนอยได้แร็พเองด้วย และเท่านั้นไม่พอ ท่อนจบแกมีโชว์บลาสต์บีทที่ดุเดือดอีกด้วย สรุปว่า เพลงนี้เป็นเพลงที่พี่เปตรุชชี่แต่ง แต่บทเด่นกลับเป็นของเฮียพอร์ตนอยเสียอย่างนั้นเลย (ฮ่าๆ...)
2. A Rite of Passage (8:36)
เพลงนี้ถือว่าเป็นซิงเกิ้ลแนกอย่างเป็นทางการของวงที่ปล่อยออกมา ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนที่แล้วพร้อมกับมิวสิกวีดีโออันชวนนึกถึงองค์กรลับ อย่าง Illuminati และเพลงนี้ก็ดันมีเนื้อหาที่โดดออกมาจากเพลงอื่นๆซึ่งเขียนจากประสบการณ์ของพี่เปตรุชชี่และเฮียพอร์ตนอย โดยที่เนื้อหาจะเกี่ยวกับองค์กรลับอีกด้วย (แต่ไม่ใช่ Illuminati นะครับ) ในเอ็มวี เพลงนี้จะถูกตัดให้เหลือเพียงห้านาทีเศษๆ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมาก เนื่องจากไปตัดท่อนคีย์บอร์ดโซโลสุดมันส์ (รวมถึงไอโฟนโซโล) ของน้ารูเดสด้วย ส่วนภาคดนตรีนี่มีอิทธิพลที่อยู่ใกล้ตัวมากๆ เพราะโดยรวมแล้วทั้งภาคดนตรีนี้คือ Metallica ที่มีคีย์บอร์ดนั่นเอง (ยกเว้นท่อนโซโลนะครับที่เร่งจังหวะขึ้นมา) สำหรับเสียงร้องของน้าเจมส์ก็ยังติดน้าเฮตฟีลด์มานิดหน่อย ก็คงไม่ต้องสงสัยละว่าทำไมเพลงนี้มันช่างใกล้เคียงกับ Metallica นัก แต่บทเด่นที่แท้จริงๆกลับมาอยู่ที่ท่อนโซโลของน้ารูเดสนั่นเอง หลังจากที่น้าแกโซโลด้วยคีย์บอร์ดเสร็จแล้วก็ไปใช้ไอโฟนคู่กายเล่นอะไรแผลงๆอย่างที่ดูในคลิปการแสดงสดที่ Download Festival นั่นละครับ
3. Wither (5:25)
เพลงนี้มีวี่แววว่าจะเป็นซิงเกิ้ลที่สองของวงได้เลยทีเดียว เพราะเป็นเพลงช้าที่ไพเราะ และมีความโดดเด่นอยู่ที่ซาวด์ซิมโฟนิกของคีย์บอร์ดเช่นเดียวกับ A Nightmare to Remember และเนื้อหาก็สามารถร้องตามได้ไม่ยากอีกด้วย โดยที่เพลงนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอุปสรรคของนักเขียนที่ไม่สามารถเสนอผลงานใหม่ๆได้ หรือพูดง่ายๆคือหมดมุขนั่นเองละครับ สำหรับเนื้อหาในเพลงนี้ก็ดูจะเป็นกำลังใจ สำหรับภาคดนตรีในเพลงนี้อาจจะทำให้นึกถึงวงอเมริกันร็อคอย่าง Staind หรือเพลงช้าๆของ Silly Fools ยุคหลังที่เปลี่ยนนักร้องเป็นคุณเบน ทัฟเนลล์ แต่ที่โดดเด่นออกมาคือความเป็นซิมโฟนิกและเสียงร้องประสานที่ไพเราะนี่ละครับที่ดึงดูดใจอย่างยี่ง ในเพลงนี้พี่เปตรุชชี่โชว์การโซโลที่หวานหยดย้อย แต่ไม่เลี่ยนจนเกินไป และด้วยความที่เพลงนี้เป็นเพลงที่สั้นที่สุดในอัลบั้ม จึงน่าจะถูกตัดมาเป็นซิงเกิ้ลได้ไม่ยาก
4. The Shattered Fortress (12:49)
เพลงนี้ก็เป็นอย่างที่แฟนๆทราบกันละครับว่าเป็นบทสรุปของ 12 ขั้นตอนแห่งการเลิกเหล้าของเฮียพอร์ตนอย ที่เอาภาคดนตรีจากพาร์ตก่อนๆมารวมไว้ในหนึ่งเดียว และพวกเขาก็ผสมกันได้อย่างตัวเสียด้วย สำหรับส่วนผสมของเพลงนี้ดูเหมือนจะมีจาก The Glass Prison มามากที่สุด และรองลงมาก็ This Dying Soul และน้อยลงมาหน่อยก็ The Root of All Evil และที่น้อยสุดก็เห็นจะเป็น Repentance นั่นเอง สำหรับท่อนแรกนั้นเหมือนเอา The Glass Prison กับ This Dying Soul มาคลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างมาก ฉะนั้นท่อนแรกๆนี้จึงน่าจะเป็นท่อนที่มันส์ที่สุดในเพลงนี้แล้วกระมัง และเพลงนี้ก็เป็นอีกเพลงที่เฮียพอร์ตนอยเหยียบกระเดื่องได้ดุเดือดที่สุดรองลงมาจาก A Nightmare to Remember ส่วนซาวด์คีย์บอร์ดของน้ารูเดสในเพลงนี้ก็จะพาย้อนกลับไปยุคที่แกยังมีทรงผมอยู่ซึ่งเป็นช่วงของ Six Degrees… พอดี ส่วนริฟของพี่เปตรุชชี่นี่เหมือนเอา The Glass Prison และ This Dying Soul มารวมกัน ในช่วงท่อนนี้เอง แล้วพอมาใกล้ๆจะโซโลคีย์บอร์ดก็จะมาผ่อนจังหวะด้วยส่วนแบ่งจาก Repentance พอมาถึงท่อนโซโลนี้น้ารูแกโชวือย่างเต็มที่เลยก่อนจะเข้าท่อนเบรคช้าๆเพราะๆที่เอาส่วนแบ่งมาจาก This Dying Soul อีกแล้ว ต่อด้วยส่วนแบ่งจาก The Root of All Evil ซึ่งคราวนี้พี่เปตรุชชี่จะโซโลบ้าง สำหรับท่อนที่ดูเป็นออริจินัลที่สุดก็เห็นจะเป็นท่อนสุดท้าย (I am responsible…) แต่เวลาจบนี่จบแบบ Octavarium เลยครับ คือเอาอินโทรของเพลงแรกมาเป็นท่อนจบ ในเมื่อ Octavarium เอา ท่อนอินโทรของ The Root of All Evil มาปิดเพลง ทำไมเพลงนี้จะทำบ้างไม่ได้ เผลอๆจะทำได้ดีกว่าอีกด้วย เพราะเอาอินโทรของ The Glass Prison (บวกด้วย The Root… อีกนิดหน่อย) มาปิดนั่นเอง
5. The Best of Times (13:09)
เพลงนี้ดูเหมือนจะเป็นเพลงที่มองโลกในแง่ดีนะครับ แต่ถ้าดูเนื้อหาดีๆมันกลับเศร้าอย่างบอกไม่ถูกทีเดียว เฮียพอร์ตนอยแต่งเพลงนี้ให้กับพ่อของแกที่ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง แต่ถึงจะเป็นเพลงเศร้าอย่างไรก็มีท่อนเร็วที่มีความโดดเด่นพอสมควร เพลงอื่นๆในอัลบั้มนี้พี่เปตรุชชี่จะใส่ริฟดุๆลงไป (นอกจาก Wither ที่ใช้เสียงคลีน) มาเพลงนี้แกใส่ท่อนลีดเท่ห์ๆและไพเราะลงไปด้วย และในเพลงนี้น้ารูเดสก็เล่นเปียโนได้อย่างเพราะพริ้งและสดใสกังวานเช่นเดิม โดยในอินโทรของเพลงนี้จะมีไวโอลินแซมเข้ามาด้วย แต่แม้เพลงนี้จะมีท่อนเร็วในช่วงแรกๆแต่จุดเด่นจริงคือท่อนช้าของเพลงที่มีพลังอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะตอนท้ายที่พี่เปตรุชชี่โซโลได้หวานซึ่ง (จนบางทีก็ฟังกันเหนื่อยเลยทีเดียว) จนเพลงค่อยๆเฟดหายไป เรียกว่าพี่แกโซโลกันยาวเลยละ
6. The Count of Tuscany (19:16)
เพลงนี้เป็นเพลงที่ยาวที่สุดในอัลบั้ม ซึ่งก็ต้องเป็นเพลงที่โชว์ภาคดนตรีของวงอย่างเต็มที่เสียด้วย เพราะแค่อินโทรปาไปเกือบสี่นาทีแล้วละครับ และท่อนเบรคบรรเลงแต่ละท่อนนี้ก็ถือว่าโชว์ความเป็น DT กันจริงๆ โดยเฉพาะตอนกลางเพลงที่โชว์ประสานงานทั้งกีต้าร์ คีย์บอร์ด เบส และกลอง จนไปถึงท่อนที่ดน้นบรรยากาศที่โชว์ซาวด์กันเต็มรูปแบบโดยลากไปยาวประมาณห้านาทีก่อนที่จะขึ้นกีต้าร์โปร่งสู่ท่อนช้าสุดท้ายที่ไพเราะ สำหรับภาคดนตรีคงไม่ต้องบรรยายอะไรกันมากเพราะครบเครื่องเรื่อง Dream theater กันจริงๆ ส่วนเนื้อหานั้นก็เป็นประสบการณ์ผีๆที่พี่เปตรุชชี่แกไปประสบมาตอนที่ไปเที่ยวที่ Tuscany ซึ่งเนื้อหาก็คล้ายๆกับการเล่าเรื่องแบบ The Shock พอสมควร แต่ด้วยดนตรีที่ครบเครื่องแบบนี้ก็ทำให้ฟังได้อย่างเพลิดเพลินเลยทีเดียว
งานชุดใหม่ของ Dream Theater นี้ถือว่าเป็นงานที่ดีที่สุดในยุคหลังๆของวง (ตั้งแต่ Six Degrees เป็นต้นมา) ด้วยซาวด์ที่ลงตัวและเป็นเอกภาพมากขึ้น ประกอบกับเพลงในชุดนี้ดูเหมาะสมกับวงเป็นอย่างดี เนื่องจากวงนี้เหมาะที่จะทำเพลงยาวๆแบบนี้อยู่แล้ว เรียกว่าดนตรีของพวกเขาอาจจะกลับขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกครั้งก็น่าจะเป็นได้