หลังจากที่ Dream Theater เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เนื่องจากเฮียพอร์ตนอยได้ลาออกด้วยความไม่เข้าใจกันกับเพื่อนๆในวงจนทางวงต้องออดิชั่นหามือกลองใหม่จนได้พี่แมนจินีมาแล้วก็ทำ A Dramatic Turn of Events ออกมา ซึ่งผมก็เชื่อว่าหลายๆท่านคงจะลุ้นกันอยู่แน่ๆว่าทางวงจะมาหรือไม่ในกลางปีนี้ ส่วนเฮียพอร์ตนอยก็ได้เปรยๆไว้ว่าอยากกลับเข้าวง แต่ก็โดนปฏิเสธ จึงทำให้แกรู้สึกเจ็บปวดพอดูที่วงที่ (ตัวเองคิดว่า) หมายมั่นปั้นมือมาทำร้ายกันได้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม เวลาก็ไม่เคยคอยท่าใคร หลังจากที่เกริ่นกันมาคร่าวๆแล้ว ผมขอเข้าเรื่องเลยก็ละกัน
หลายๆท่านคงจะทราบกันแล้วปีก่อนเฮียพอร์ตนอยแกได้ผุดโปรเจ็คเฮฟวี่ (ขี้โม้) อย่าง Adrenaline Mob (ขอย่อเป็น A-Mob) ที่มีพี่รัสเซล อัลเลนมาร่วมร้องด้วย ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่า A-Mob นี้กินยาผิดสำแดงกันมารึเปล่า เพราะงานออกมาแลจะรุ่งริ่งมากกว่ารุ่งเรืองเสียอีก แต่ในระหว่างที่เฮียพอร์ตนอยทำ A-Mob อยู่ แกก็มีโปรเจ็คอีกหนึ่งชิ้นที่รวมดาราโปรเกรสสีฟร็อครุ่นเก๋ามาไว้ในวงเดียว (เช่นเดียวกับ Transatlantic) โดยสมาชิกร่วมอุดมการณ์ประกอบไปด้วย น้าสตีฟ และน้านีล มอร์ส (ไม่ได้เป็นญาติกันแต่ดันนามสกุลเหมือนกัน) เดฟ ลารู และ เคซี่ แม็คเฟอร์สัน นักร้องจาก Alpha Rev ส่วนชื่อ Flying Colors นั้นเฮียพอร์ตนอยคิดได้ในระหว่างที่ทำอัลบั้มกันอยู่ มีแฟนเพลงคนหนึ่งถามแกว่า ถ้าใช้ชื่อ Morse Code มันจะดูโหลไปไหม และแกก็ตอบกลับไปว่า น้าสตีฟเคยคิดจะใช้ชื่อนี้อยู่เหมือนกัน แต่ติดตรงที่ว่ามีคนใช้ชื่อนี้อยู่แล้ว จึงตกลงกันว่าจะใช้ Flying Colors นี้แน่นอน (รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถอ่านได้ที่ http://allmediareviews.blogspot.com/search/label/Flying%20Colors ) พวกเขามีแผนที่จะออกอัลบั้มกันในปลายเดือน มี.ค. กับสังกัด Music Theory Recordings ในเครือ Mascot ซึ่งคาดว่าหลังจากที่ผมเขียนรีวิวนี้เสร็จ ตัวอัลบั้มก็คงออกวางแผงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
งานชุดนี้ได้ปีเตอร์ คอลลินส์ และ บิล อีแวนส์ (ไม่ใช่นักเปียโนกับนักแซกโซโฟนนะครับ) มาร่วมโปรดิวซ์ให้ โดยคนแรกนั้นเคยได้ร่วมงานกับวงรุ่นใหญ่อย่าง Rush มาแล้ว ส่วนคนหลังนั้นก็เป็นคู่บุญของน้านีลมานานพอสมควร และแทร็คลิสต์ในอัลบั้มนี้ก็ประกอบไปด้วย
1. Blue Ocean
2. Shoulda Woulda Coulda
3. Kayla
4. The Storm
5. Forever in a Daze
6. Love is What I’m Waiting For
7. Everything Changes
8. Better Than Walking Away
9. All Falls Down
10. Fool in My Heart
11. Infinite Fire
ช่วงแรกที่ได้ไปฟังพรีวิวที่แฟนเพจของพวกเขาก่อนที่จะได้ฟังงานเต็ม ผมรู้สึกว่าตัวงานอาจจะยังมีกลิ่นอายของ Transatlantic อยู่บ้าง แต่พอมาฟังเต็มๆแล้วกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่สไตล์การเขียนเพลงทั้งในแง่ดนตรีและเนื้อหาแล้วคิดว่ายังเอนไปทางน้านีลอยู่ โดยเฉพาะเพลงที่ยาวขึ้นมาหน่อยอย่าง Blue Ocean หรือ Infinite Fire ส่วนเพลงที่ยาวรองๆลงมาก็มีหลากหลายอารมณ์จนออกไปทางจับฉ่ายเลยก็น่าจะเป็นได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นไปตามรสนิยมของสมาชิกแต่ละคน อย่าง The Storm เพลงป็อปร็อคไลน์กีต้าร์ติดหู ซึ่งเสียงร้องของเคซี่ก็แลดูเหมาะสมกับแนวแบบนี้อยู่แล้ว ส่วน All Falls Down ที่พยายามจะทำให้เป็น (กึ่ง) เมทัลด้วยการรัวกระเดื่องของเฮียพอร์ตนอยและการลีดและโซโลกีต้าร์ที่หวือหวาขึ้นมาหน่อยของน้าสตีฟ และ Fool in My Heart ซึ่งเป็นเพลงเดียวที่เฮียพอร์ตนอยร้องนำก็ได้อารมณ์แบบย้อนยุคหน่อยตามสไตล์ของแก
ถ้าไม่นับแนวทางที่กระจัดกระจาย งานของพวกเขาถือว่ามีโปรดักชั่นที่ดีมากทีเดียว กับทำนองของแต่ละเพลงก็สะอาดสะอ้าน ทำให้ตัวงานนั้นมีความติดหูอยู่พอสมควร ส่วนเรื่องฝีมือของแต่ละคนนั้นก็คงไม่ต้องพูดถึงกัน เพราะต่างคนต่างก็มีชื่อชั้นกันในระดับโลกอยู่แล้ว แต่บางทีการรวมดาราระดับโลกมาไว้ในวงเดียวแบบนี้ก็อาจไม่ได้ช่วยในเรื่องทิศทางดนตรีมากนัก โดยเฉพาะกับเคซี่ที่เป็นนักร้องอัลเทอร์เนทีฟแต่มาได้มารวมวงกับดาวดังในสายโปรเกรสสีฟร็อค กอปรกับน้านีลเองก็สามารถร้องนำได้อยู่แล้ว ตัวเขาเองจึงไม่ได้มีความโดดเด่นมากนักแม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งร้องนำก็ตาม อีกประการหนึ่ง แม้เนื้อเสียงของเขาจะสามารถร้องได้หลากหลายแนว เขาก็ทำได้ไม่สุดเหมือนอย่างน้านีลหรือแม้กระทั่งเฮียพอร์ตนอย (ที่ไม่ได้เป็นนักร้องมาตั้งแต่แรก) เสียงของเคซี่จะมาเด่นก็ในเพลง The Storm ที่กล่าวไว้ข้างต้น กับ Better Than Walking Away
ด้วยแนวทางที่ไม่ค่อยชัดเจนนักในอัลบั้ม จึงยากที่จะหาจุดเด่นในตัวงาน นอกจากจะได้ชื่อเพราะเป็นการรวมดาราระดับโลกของสายโปรเกรสสีฟร็อคบวกกับเคซี่ที่มาจากแนวอัลเทอร์เนทีฟ ผลที่ตามมาก็คือผลงานที่ออกมาไม่สุดตามที่ควรจะเป็น เนื่องจากแนวดนตรีที่เปลี่ยนไปในแต่ละเพลง แต่ก็ยังมีบางเพลงที่พวกเขายังทำได้ดีอยู่ อย่าง Blue Ocean และ Infinite Fire ส่วนเพลงอื่นๆก็จะมีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป อย่าง Better Than Walking Away ซึ่งถ้าเปลี่ยนคนร้องเป็นน้านีลหรือน้ารอน (สโตลท์ – The Flower Kings) ก็จะกลายเป็นเพลงช้าแบบ Transatlantic ไปในทันที ทางด้าน Fool in My Heart ที่เฮียพอร์ตนอยได้ร้องนำ แกก็ทำได้ตามอัตถภาพ ด้วยภาพรวมของทำนองที่ดูย้อนยุคจึงทำให้แกมีความโดดเด่นขึ้นมาด้วย และในบรรดาเพลงทั้งหมดก็มีเพลงส่วนหนึ่งที่แลจะออกทะเลไปหน่อย อย่าง Shoulda Woulda Coulda ซึ่งตอนแรกผมเห็นชื่อก็นึกว่าจะคัฟเวอร์ไบรอัน แม็คไนท์หรือเบเวอร์ลี่ ไนท์ เสียอีก (เป็นคนละเพลงกัน) แต่ตัวเพลงดูเหมือนพวกเขาจะคิดกันง่ายไปหรือเปล่า จึงทำให้เพลงดูไม่ค่อยมีอะไรน่าชื่นชมเท่าไหร่ ส่วน All Falls Down ที่น่าจะเป็นเพลงที่โชว์ฝีมือที่สุดในบรรดา แต่กลับให้อารมณ์ครึ่งๆกลางๆ จนบางทีก็อดคิดไม่ได้ว่าควรจะกลับไปฟังงานเก่าๆของ Dream Theater น่าจะดีกว่าไหม
สรุปได้ว่า การรวมดาราระดับโลกมาไว้ด้วยกันไม่จำเป็นจะต้องทำงานออกมาได้ดีทั้งหมดเสมอไป และจากการเปิดตัวครั้งแรกของพวกเขา ผมขอพูดตามภาษาชาวบ้านว่า “แป้ก” อยู่พอสมควร ด้วยแนวเพลงที่หลากหลายเกินไปจนเรียกว่าจับฉ่าย และแต่ละเพลงก็ทำออกมาได้ไม่สุด แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้โปรดักชั่นที่ดีคอยหนุนหลัง และสำหรับเฮียพอร์ตนอย โปรเจ็คนี้ดูท่าจะไปได้สวยกว่า Adrenaline Mob เสียอีก
Rating: 6/10
เพลงตัวอย่าง: Infinite Fire