อัพเดทแล้ว อยู่ด้านล่างอันเก่าคับ ++
TITANIC โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ
ถ้าจะพูดถึง เรือเดินสมุทรบนในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่จะยิ่งใหญ่และสมบูรณ์มากไปกว่า เรือเดินสมุทรที่มีความใหญ่โตและอลังการงานสร้างที่ชื่อ ไททานิก ได้อีกแล้ว เพราะอะไรนะหรือ ไททานิคนั้นยิ่งใหญ่ในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะในเรื่อง ขนาด ความหรูหรา ความสะดวกสบาย จำนวนผู้โดยสารที่แบ่งชนชั้น จากการที่เรือนั้นจมลงในไปอยู่ก้นเบื้องลึกของมหาสมุทรแอตแลนติกมากกว่า 90 ปีผ่านไป ไททานิคในปัจจุบันยังได้รับการกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ และประวัติศาสตร์ที่น่าสลดใจก้อคือ การจากไปโดยที่ไททานิคนั้นเพิ่งจะได้เริ่มเดินในมหาสมุทรได้เพียง 1 เที่ยวเท่านั้นเอง
ไททานิค นั้นมีประวัติศาสตร์มากมายให้เล่าถึง จึงทำให้ในปี 1997 ได้มีการสร้างภาพยนตร์อันเป็นประวัติศาสตร์ของฮอลลีวู้ดขึ้นมาด้วยการกำกับจากสายตาของ James Cameron ผู้กำกับคนดังคนนี้ได้สร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ที่บอกถึงความยิ่งใหญ่ในทุกด้านออกสู่สายตาประชาชนได้อย่างเป็นอย่างดีจนสร้างประวัติศาสตร์ในการมอบรางวัลออสการ์ที่รับเละกลับบ้านไปถึง 11 รางวัลจากที่เข้าชิงในปีนนั้นทั้งหมด 14 รางวัลด้วยกัน
รีวิวนี้ขอมอบให้แก่การครบรอบ 10 ปีของภาพยนตร์เรื่อง Titanic และครบรอบ 95 ปีของจากไปของเรือเดินสมุทรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนะคับเพราะว่า Titanic หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จุดประกายให้ม่อนหันมาสนใจในเรื่องแผ่นฟิล็ม สนใจฮอลลี้วู้ดมาก ๆ
TITANIC ในปี 1912
เรือไททานิกนั้นถือได้ว่าเป็นเรือเดินสมุทรที่ขึ้นชื่อว่า มีขนาดใหญ่ที่สุด มั่นคงแข็งแรงที่สุด หรูหราที่สุดในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ทุกคนเชื่อว่าไททานิกเป็น เรือที่ไม่มีวันจม แต่เหตุการณ์กลับกลายเป็นตรงกันข้าม เพราะในการเดินเรือครั้งแรกของไททานิก เรือลำนี้ก็ได้ชนกับภูเขาน้ำแข็งจนถึงกับอับปางลงและมี ผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากกว่า 1,500 คน
ก่อนจะมาเป็นไททานิก
ก่อนหน้าที่จะถึงยุคการเดินทางด้วยเครื่องบินเหมือนในปัจจุบัน การเดินทางจากทวีปยุโรปไปยังสหรัฐอเมริกามีทางเดียวเท่านั้นคือ การเดินทางด้วยเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ดังนั้นกิจการเดินเรือจึงเป็นกิจการที่มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงในช่วงนั้น
เจ. บรูซ อิสเมย์
ในราวปี ค.ศ. 1850 สายการเดินเรือไวต์สตาร์ (White Star Line) ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการเดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ต่อมาได้ถูกซื้อกิจการไปโดยทอมัส อิสเมย์ (Thomas Ismay) และเซอร์เอ็ดเวิร์ด ฮาร์แลนด์ นักธุรกิจผู้มั่งคั่งชาวอังกฤษ ซึ่งต่อมาทอมัส อิสเมย์ได้ผลักดันลูกชายคนโตคือ เจ. บรูซ อิสเมย์ ให้เข้ามารับช่วงแทน
ต่อมาในปี ค.ศ. 1902 กิจการของสายการเดินเรือไวต์สตาร์ได้ถูกซื้อไปอีกต่อหนึ่งโดยบริษัทของ เจ. พี. มอร์แกน ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน แต่ก็ยังคงใช้พนักงานและลูกเรือชาวอังกฤษโดยไม่เปลี่ยนแปลง รวมทั้ง เจ. บรูซ อิสเมย์ ก็ยังคงมีบทบาทอยู่ในสายการเดินเรือแห่งนี้โดยเป็นกรรมการผู้จัดการของสายการเดินเรือ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าในยุคนั้นเป็นยุคที่สายการเดินเรือมีการแข่งขันกันสูง สายการเดินเรือคิวนาร์ด (Cunard Liner) ซึ่งเป็นคู่แข่งมีเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่หรูหราอยู่ 2 ลำ ดังนั้นสายการเดินเรือไวต์สตาร์จึงคิดที่จะสร้างเรือเดินสมุทรให้ยิ่งใหญ่และหรูหรากว่าขึ้นมา
โดยความคิดริเริ่มของ เจ. บรูซ อิสเมย์ และลอร์ด เจมส์ เพอร์รี หุ้นส่วนผู้หนึ่งของไวต์สตาร์ สายการเดินเรือแห่งนี้จึงเริ่มสร้างเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่แบบ 3 ใบเถาขึ้น โดยสร้างขึ้นก่อน 2 ลำในปี ค.ศ. 1908 นั่นคือเรือเดินสมุทรโอลิมปิก (Olimpic) และไททานิก (Titanic) และหลังจากนั้นจึงจะสร้างลำที่ 3 ซึ่งตั้งชื่อไว้แล้วว่าไจแกนติก (Gigantic) แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริแทนนิก (Britannic) แทน
เรือทั้ง 3 มีโครงสร้างเหมือนกันเกือบทั้งหมด รวมทั้งมีขนาดใกล้เคียงกันมาก โอลิมปิกและไททานิกถูกสร้างขึ้นก่อนที่อู่ต่อเรือในเมืองเบลฟาสต์ในไอร์แลนด์เหนืออันเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเรื่องการต่อเรือในยุคนั้น
ในปี ค.ศ. 1911 เรือเดินสมุทรโอลิมปิกซึ่งมีขนาด 45,300 ตันเริ่มออกให้บริการเป็นครั้งแรก ในขณะที่ไททานิกกำลังอยู่ในระหว่างการตกแต่ง และหลังจากที่โอลิมปิกปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 2 เดือนก็เกิดอุบัติเหตุชนกับเรือลำอื่นจนเรือชำรุดเสียหายทั้งคู่ และโอลิมปิกต้องถูกส่งกลับไปซ่อมแซมที่เบลฟาสต์ กัปตันเรือโอลิมปิกในครั้งนั้นก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คือ กัปตันเอ็ดเวิร์ด เจ. สมิท ผู้ซึ่งต่อมาเป็นกัปตันเรือมรณะไททานิกนั่นเอง
กัปตันเอ็ดเวิร์ด เจ. สมิท
ไททานิก เรือเดินสมุทรสุดหรู
วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1911 เรือไททานิกถูกปล่อยลงน้ำเป็นครั้งแรก ไททานิกที่ต่อเสร็จแล้วได้กลายเป็นพาหนะที่ใหญ่ที่สุดในโลกในยุคนั้น มีความยาว 268 เมตร กว้าง 28 เมตร และความสูงวัดจากท้องเรือถึงสะพานเดินเรือ (สะพานเดินเรือหมายถึงห้องควบคุมเรือที่อยู่บนดาดฟ้า) 30 เมตร พิธีปล่อยเรือถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และมีผู้เข้าชมถึง 100,000 คน
หลังจากใช้เวลาตกแต่งหลายเดือน ในที่สุด ไททานิกก็กลายเป็นเรือเดินสมุทรสุดหรูหรา ไททานิกมีระวาง 46,300 ตัน ใหญ่กว่าเรือโอลิมปิก 1,000 ตัน บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือได้เต็มที่ถึง 3,547 คน มีเครื่องยนต์ที่มีพลังแรงถึง 46,000 แรงม้า (เปรียบเทียบกับรถยนต์นั่งขนาดกระบอกสูบ 2,000 ซีซี. มีกำลังราว 130-140 แรงม้า) ทุ่มค่าก่อสร้างไปถึง 7,500,000 ดอลลาร์และค่าตกแต่งอีก 2,500,000 ดอลลาร์ รวมเป็น 10 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถ้าคิดเทียบเป็นค่าของเงินในปัจจุบันจะเป็นมูลค่าถึง 400 ล้านดอลลาร์ (ราวสองหมื่นล้านบาท) ทีเดียว
วันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 เรือไททานิกออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแทมป์ตันในอังกฤษโดยมีจุดหมายปลายทางคือเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผู้โดยสารในเที่ยวนั้นประกอบด้วยบุคคลชั้นสูงในวงสังคมของอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก
ไททานิกมีห้องชุด (suite) ระดับวีไอพีซึ่งมีดาดฟ้าชมทิวทัศน์ส่วนตัวถึง 2 ห้อง ค่าโดยสารชั้นวีไอพีนี้มีราคาสูงถึง 4,350 ดอลลาร์ (เที่ยวเดียว ที่จริงในสมัยนั้นคิดเป็นเงินปอนด์ แต่แปลงค่าเป็นเงินดอลลาร์อเมริกันเพราะให้สะดวกในการนึกเปรียบเทียบ) คิดเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบันก็ตกราว 50,000 ดอลลาร์หรือราว 250,000 บาท มีห้องชั้นหนึ่ง 67 ห้อง ราคา 150 ดอลลาร์ (ปัจจุบันราว 1,725 ดอลลาร์) ภายในห้องทั้ง 67 ห้องนี้มีการตกแต่งในสไตล์ต่าง ๆ กัน อาทิ แบบหลุยส์ แบบอิตาเลียนเรอเนซองส์ แบบดัตช์ ฯลฯ แถมบางห้องยังมีเตาผิงอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีสิ่งปรนเปรอความสุขอีกหลายอย่าง อาทิ มีห้องอบไอน้ำแบบตุรกี (Turkish Bath) มีลานสำหรับเล่นสควอชซึ่งจัดว่าเป็นเรื่องที่ทันสมัยมากในยุคนั้น มีสระว่ายน้ำ (ถือเป็นสระว่ายน้ำในเรือแห่งแรกของโลก) มีห้องออกกำลังกาย ร้านตัดผม ห้องสมุด ฯลฯ คาเฟทีเรียในเรือมีการประดับประดาอย่างหรูหรารวมทั้งมีการนำต้นปาล์มจริงๆมาประดับอีกด้วย ทำให้เรือเดินสมุทรลำนี้เป็นเรือสำราญที่หรูหรามากชนิดที่สายการเดินเรือคิวนาร์ดตามไม่ทัน
สายการเดินเรือไวต์สตาร์จัดการเดินทางรอบปฐมฤกษ์ของเรือไททานิกในวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 โดยเดินทางจากท่าเรือเซาแทมป์ตันของอังกฤษไปยังเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในการเดินทางรอบปฐมฤกษ์นี้เป็นแผนการประชาสัมพันธ์เรือไททานิกด้วย ดังนั้นจึงมีบุคคลสำคัญและบุคคลในวงสังคมชั้นสูงทั้งของอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐอเมริการ่วมเดินทางไปด้วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง เจ. พี มอร์แกน เจ้าของไวต์สตาร์ เจ. บรูซ อิสเมย์ ผู้จัดการไวต์สตาร์ รวมทั้งยังมีทอมัส แอนดรูวส์ วิศวกรอาวุโสของอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์และวูลฟฟ์ผู้ออกแบบและควบคุมการต่อเรือไททานิก แต่ต่อมามอร์แกนยกเลิกการเดินทางกะทันหันเนื่องจากล้มป่วย
กัปตันเรือไททานิกก็ไม่ใช่ใครอื่น กัปตันเอ็ดเวิร์ด สมิท นั่นเอง กัปตันสมิทเป็นกัปตันเรือที่เก่งกาจและมีค่าตัวแพงที่สุดในยุคนั้น การเดินทางในเที่ยวนี้จะเป็นเที่ยวสั่งลาในอาชีพกัปตันเรือเพราะหลังจากนั้นกัปตันสมิทก็จะเกษียณแล้ว
แม้ไททานิกจะถูกออกแบบมาให้เป็นเรือที่ใช้ในได้ในทุกฤดูกาลของปี แต่การเดินทางในช่วงนี้ก็ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะธารน้ำแข็งแถบกรีนแลนด์จะละลายและก่อให้เกิดภูเขาน้ำแข็งเคลื่อนตัวลงมาในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือและลอยตามกระแสน้ำในมหาสมุทรลงมาทางใต้
ออกเดินทาง ( เที่ยวสุดท้าย)
ในเช้าวันเดินทาง ตามกฎการเดินเรือ เจ้าหน้าที่ประจำเรือจะต้องมีการฝึกซ้อมการใช้เรือชูชีพในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน การฝึกซ้อมในเช้านั้นทำขึ้นพอเป็นพิธีเท่านั้น ดังนั้นจึงมีลูกเรือมาฝึกซ้อมเพียงไม่กี่นาย แต่เดิมไททานิกถูกออกแบบมาให้มีเรือชูชีพ 32 ลำ แต่ต่อมาถูกตัดออกเหลือเพียง 20 ลำซึ่งจุผู้โดยสารรวมกันได้เพียง 1,178 คนเท่านั้น เนื่องจากเห็นว่าเกะกะ อีกทั้งเห็นว่าจำนวนเพียงเท่านี้ก็เหลือเฟือแล้วตามกฎหมายการเดินเรือในยุคนั้นที่กำหนดจำนวนเรือชูชีพตามน้ำหนักเรือเป็นเกณฑ์โดยไม่คำนึงถึงจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งในกรณีของไททานิก เรือชูชีพเพียงแค่ 962 ที่ก็เป็นการเพียงพอแล้วตามกฎหมาย
ครั้นเวลาเที่ยง เรือไททานิกก็ออกเดินทางจากท่าเรือเซาแทมป์ตัน เมื่อเรือเริ่มออกจากท่าก็หวุดหวิดจะเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงที่พนักงานเหมืองถ่านหินทำการประท้วงและนัดหยุดงาน ส่งผลให้เรือหลายลำต้องจอดแช่อยู่ที่ท่าเรือเนื่องจากไม่มีถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการเดินทาง แต่เนื่องจากไวต์สตาร์เป็นสายการเดินเรือใหญ่ จึงมีถ่านหินตุนอยู่บ้างทำให้ไททานิกสามารถออกเดินทางได้
จากการที่ท่าเรือค่อนข้างคับคั่ง เมื่อไททานิกอันเป็นเรือขนาดใหญ่มหึมาออกจากท่า ผลจากการเคลื่อนตัวของเรือทำให้น้ำกระเพื่อมและเกิดแรงดูดอันมหาศาลดึงเรือที่อยู่ใกล้เคียงเข้าหาเรือไททานิก เรือ นิวยอร์ก ถูกกระแสน้ำดูดจนเกือบชนเรือไททานิกโดยห่างเพียงหนึ่งเมตรกว่าๆเท่านั้นเอง โชคดีที่เบนเรือออกทัน อุบัติเหตุในครั้งนี้ก็เป็นสาเหตุเดียวกับที่เรือโอลิมปิกเกิดอุบัติเหตุชนกันจนต้องซ่อมใหญ่ก่อนหน้านี้นั่นเอง
เมื่อออกจากท่าเรือเซาแทมป์ตัน ไททานิกมุ่งหน้าไปยังเมืองแชร์บูร์กของฝรั่งเศสเพื่อแวะรับผู้โดยสาร
11 เมษายน ไททานิกแวะที่ท่าเรือเมืองควีนส์ทาวน์ในไอร์แลนด์ และในเวลา 13.30 น. ไททานิกก็ถอนสมอและมุ่งหน้าไปยังสหรัฐอเมริกา แต่ใครจะทราบเล่าว่าการถอนสมอครั้งนั้นเป็นการถอนสมอครั้งสุดท้ายและเรือไททานิกจะจากไปอย่างไม่มีวันกลับ
12 - 13 เมษายน ทะเลสงบและอากาศแจ่มใส การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้โดยสารบนเรือต่างรื่นเริงกับการเดินทางอันหรูหราในครั้งนี้
14 เมษายน ตามกำหนดการเดิม เช้าวันอาทิตย์ที่ 14 นี้จะต้องมีการซ้อมการใช้เรือชูชีพโดยมีผู้โดยสารร่วมฝึกซ้อมด้วย แต่การฝึกซ้อมได้ถูกยกเลิกไป
แม้ในสมัยนั้นจะมีระบบโทรศัพท์เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่การติดต่อด้วยเสียงพูดระหว่างเรือหรือระหว่างเรือกับแผ่นดินยังไม่สามารถทำได้ ระบบที่มีอยู่ในตอนนั้นคือวิทยุโทรเลขซึ่งเป็นการส่งรหัสมอร์ส (Morse code) ด้วยคลื่นวิทยุ ในเรือแต่ละลำจะมีห้องวิทยุโทรเลขซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยรับส่งข้อความโดยเฉพาะเพราะต้องเป็นผู้ที่รู้จักรหัสมอร์ส
ห้องส่งวิทยุโทรเลขบนเรือเดินสมุทรในยุคนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อบริการแก่ผู้โดยสาร เป็นหลัก เพราะการเดินทางโดยทางเรือนั้นต้องใช้เวลานาน จากหลายวันถึงเป็นเดือน ดังนั้นการติดต่อกับผู้ที่อยู่บนบกจึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้โดยสาร ส่วนการใช้เพื่อประโยชน์ในการเดินเรือนั้นเป็นวัตถุประสงค์รอง
ในเรือไททานิกนี้ก็เช่นกัน ห้องวิทยุโทรเลขมีไว้เพื่อบริการผู้โดยสารเป็นหลัก เจ้าหน้าที่วิทยุโทรเลขนี้ไม่ใช่พนักงานประจำเรือ แต่เป็นพนักงานของบริษัทมาร์โคนีซึ่งเป็นต้นตำรับในการสื่อสารด้วยวิทยุโทรเลข แม้แต่ใบโทรเลขในยุคนั้นที่จริงก็ไม่ได้เรียกว่า โทรเลข (telegram) แต่เรียกว่า มาร์โคนีแกรม (marconigram) อัตราค่าส่งวิทยุโทรเลขบนเรือไททานิกคิดเป็นเงิน 3.12 ดอลลาร์หรือเทียบเท่ากับ 36 ดอลลาร์ในสมัยนี้ซึ่งนับว่าสูงเอาการ
เนื่องจากไททานิกเป็นเรือขนาดใหญ่ จุผู้โดยสารได้มาก ดังนั้นปริมาณการใช้บริการส่งวิทยุโทรเลขก็ต้องมากเป็นธรรมดา พนักงานรับส่งวิทยุโทรเลขจึงต้องทำงานค่อนข้างหนัก เมื่อว่างเว้นจากงานบริการผู้โดยสารแล้วจึงค่อยมาสะสางเรื่องการติดต่อเพื่อการเดินเรือ อีกทั้งในสมัยนั้นยังไม่มีขั้นตอนการนำส่งข้อความแก่กัปตันเรืออย่างเป็นระบบ ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันแต่อย่างใดว่าข่าวสารจะถึงมือกัปตันหรือไม่ หรือถึงช้าเร็วเพียงใด
เช้าวันที่ 14 เมษายน กัปตันสมิทสั่งเดินเครื่องเรือไททานิกเต็มที่ สำหรับสาเหตุของการเร่งเครื่องครั้งนี้มีผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่าเป็นไปตามความต้องการของอิสเมย์ ผู้จัดการไวต์สตาร์ ที่ต้องการทำเวลาเพื่อให้ไปถึงนิวยอร์กก่อนกำหนดและเพื่อเป็นการลบสถิติที่เรือโอลิมปิกซึ่งเป็นเรือพี่ในชุด 3 ใบเถานี้เคยทำไว้ ไททานิกจึงแล่นด้วยความเร็วถึง 22.5 นอต (1 นอตคือ 1 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง, 1 ไมล์ทะเลหรือ nautical mile นี้เท่ากับ 1.85 กิโลเมตร) ซึ่งเกือบถึงความเร็วสูงสุดของเรือ (23 นอต)
และในวันเดียวกันนี้เอง ไททานิกได้รับวิทยุโทรเลขเตือนเรื่องภูเขาน้ำแข็งในเส้นทางเดินเรือถึง 7 ครั้ง (เอกสารบางแหล่งระบุว่า 6 ครั้ง) จากเรือเดินสมุทรในสายแอตแลนติกเหนือ อาทิ จากเรือแคโรเนีย บอลติก อเมริกา แคลิฟอร์เนียน และเมซาบา ฯลฯ และที่ร้ายก็คือ เมื่อเวลา 21.45 น. ไททานิกได้รับวิทยุโทรเลขเตือนว่ามีภูเขาน้ำแข็งและน้ำแข็งกระจัดกระจายอยู่ในเส้นทางข้างหน้า แต่พนักงานวิทยุโทรเลขไม่ได้ส่งข้อความนั้นให้แก่กัปตันหรือเจ้าหน้าที่เรือคนใดเลย ทั้งนี้ เพราะมัวยุ่งอยู่กับการส่งวิทยุโทรเลขให้แก่ผู้โดยสารในเรือนั่นเอง
นาทีมรณะ
เวลา 22.50 น. ทะเลสงบไร้ระลอก มหาสมุทรเงียบสงัด คงมีแต่เสียงหัวเรือแหวกน้ำทะเล เรือเดินสมุทรแคลิฟอร์เนียนซึ่งอยู่ไม่ไกลนักได้ส่งข่าวเตือนภัยแก่ไททานิกว่าเรือแคลิฟอร์เนียนต้องหยุดเรือไม่สามารถเดินทางต่อไปได้เพราะถูกห้อมล้อมไปด้วยน้ำแข็ง
เวลา 23.40 น. เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ 2 คนที่อยู่บนเสากระโดงเรือมองเห็นภูเขาน้ำแข็งในระยะกระชั้นชิด คืออยู่ห่างออกไปราว 450 เมตร และส่งสัญญาณเตือนภัย ควรทราบไว้ด้วยว่าเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์นั้นเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญมาก ตามปกติต้องว่าจ้างผู้ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษมาทำหน้าที่ ไม่ใช่ลูกเรือทั่วไปก็สามารถทำได้ และอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือกล้องส่องทางไกล แต่ในการเดินทางของไททานิกเที่ยวนี้เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ไม่มีกล้องส่องทางไกลเพราะหากล้องไม่พบเนื่องจากมีการย้ายที่เก็บ รวมทั้งก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์คนหนึ่งได้เปรยขึ้นมาว่าได้กลิ่นน้ำแข็งที่โชยมาจากภูเขาน้ำแข็ง แต่เนื่องจากไม่มีกล้องส่องทางไกลจึงยังไม่เห็นสิ่งใด
วิลเลียม เมอร์ด็อก ซึ่งอยู่เวรในขณะนั้นสั่งให้หยุดเรือ เดินเครื่องถอยหลัง และเบนเรือไปทางซ้าย แต่ทุกอย่างสายไปเสียแล้ว เพราะภายในเวลาประมาณ 40 วินาทีเท่านั้นไททานิกที่แล่นด้วยความเร็วสูงก็พุ่งเข้าชนภูเขาน้ำแข็งทางกราบขวา
Thomas Andrews
เวลา 11.50 น. กัปตันสมิทได้เชิญทอมัส แอนดรูวส์ วิศวกรผู้ออกแบบเรือไททานิกให้ช่วยประเมินความเสียหายของท้องเรือ หลังจากที่แอนดรูวส์ได้สำรวจท้องเรือแล้วแจ้งให้ทราบว่าเรือไททานิกมีห้องผนึกน้ำ (watertight compartment เป็นปริมาตรในท้องเรือที่ถูกแบ่งซอยออกเป็นห้องๆโดยมีประตูกั้นน้ำไว้ ทั้งนี้เพื่อว่าเมื่อเรือรั่วจะได้ท่วมเฉพาะห้องผนึกน้ำเพียงห้องใดห้องหนึ่ง ไม่ท่วมไปทั้งลำเรือ ทำให้เรือไม่จม) 16 ห้อง หากน้ำรั่วเข้าเรือเพียง 4 ห้องก็ยังสามารถลอยเรืออยู่ได้ แต่ขณะนี้มีน้ำรั่วเข้ามาถึง 5 ห้องแล้ว แอนดรูวส์ประเมินว่าเรือทั้งลำจะจมลงภายในเวลา 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น
เที่ยงคืน กัปตันสมิทสั่งเจ้าหน้าที่วิทยุโทรเลขให้ส่งสัญญาณซีคิวดี (CQD เป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ สัญญาณขอความช่วยเหลือที่ใช้ในสมัยนั้นมี 2 สัญญาณ คือ CQD และ SOS) และยิงพลุขอความช่วยเหลือ รวมทั้งสั่งให้ลูกเรือเตรียมเรือชูชีพให้พร้อม
15 เมษายน เวลา 00.25 น. ผู้โดยสารในเรือเกิดความโกลาหลวุ่นวายเพราะไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น กัปตันสมิทสั่งให้ลูกเรือเริ่มพาผู้โดยสารลงเรือชูชีพ กัปตันสมิททราบดีว่าเรือชูชีพที่มีอยู่ไม่สามารถช่วยผู้โดยสารทั้งหมดได้ จึงได้สั่งให้จัดสตรีและเด็กลงเรือก่อน ในขณะเดียวกัน เรือคาร์เพเทียของสายการเดินเรือคิวนาร์ดอันเป็นคู่แข่งของไวต์สตาร์และอยู่ห่างจากไททานิกออกไป 93 กิโลเมตรก็ได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือและรีบมุ่งหน้ามาช่วยด้วยความเร็วเต็มพิกัด
ยิ่งนาน เรือก็ยิ่งจมลงต่ำ ความโกลาหลก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ทุกคนต่างก็ทะลักมาอยู่ที่ดาดฟ้าเรือเพื่อแย่งกันลงเรือชูชีพ เจ้าหน้าที่จึงปิดกั้นทางเดินของผู้โดยสารชั้น 3 ไว้ไม่ให้ขึ้นมาที่ดาดฟ้าเรือเพื่อลดความวุ่นวายบนดาดฟ้าเรือ รวมทั้งมีการใช้อาวุธปืนยิงผู้โดยสารเพื่อควบคุมสถานการณ์ด้วย
เพราะว่าขาดการฝึกซ้อมเหตุฉุกเฉิน เหล่าลูกเรือจึงจัดผู้โดยสารขึ้นเรือชูชีพได้ไม่เร็วนัก อีกทั้งด้วยความไม่มั่นใจในความแข็งแรงของเสาเดวิต (davit เสาที่ห้อยเรือชูชีพไว้ เสานี้จะมีรอกเพื่อหย่อนเรือลงน้ำด้วย) จึงบรรทุกผู้โดยสารไม่เต็มลำเรือ เรือชูชีพลำแรกที่ถูกปล่อยลงทะเลมีผู้โดยสารเพียง 28 คนเท่านั้นจากที่บรรทุกได้เต็มที่ 65 คน! และนี่เองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีผู้รอดตายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
สถานการณ์วิกฤตยิ่งขึ้นเรื่อยๆในขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามเร่งช่วยสตรีและเด็กลงเรือชูชีพ ส่วนพนักงานวิทยุโทรเลขก็พยายามส่งสัญญาณขอความช่วยเหลืออย่างไม่หยุดหย่อน ภาพชีวิตบนเรือไททานิกในขณะนั้นมีหลากหลาย มีทั้งดิ้นรน ทั้งสิ้นหวัง ระคนกันไป แม้มีเงินมากมายเท่าใดก็ไม่อาจช่วยให้ตนรอดชีวิตได้ เมื่อถึงคราวคับขัน แต่ละคนก็แสดงธาตุแท้ของตนออกมา พวกผู้ชายที่คุมสติได้ก็พยายามยิ้มรับความตายอย่างอาจหาญ บางคนกลับไปแต่งชุดใหญ่เต็มยศเพื่อรอรับความตาย บางคนก็ไปนั่งถีบจักรยานอยู่กับที่ในห้องออกกำลังกายฆ่าเวลา สตรีบางคนปฏิเสธที่จะไปกับเรือชูชีพเพราะต้องการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสามีในยามวิกฤตของชีวิต ในขณะที่ชายบางคนกลับเอาผ้ามาคลุมศีรษะเพื่อพรางตัวเป็นสตรีและลงไปในเรือชูชีพเพื่อเอาตัวรอด
เหล่านักดนตรีได้แสดงสปิริตอย่างน่าชื่นชม พวกเขาพยายามเล่นดนตรีเพื่อผ่อนคลายความตื่นตระหนกของคนบนเรือตลอดเวลา เมื่อห้องโถงด้านหัวเรือจมต่ำลงก็ย้ายไปเล่นที่ดาดฟ้าด้านท้ายเรือ และบรรเลงไปจนนาทีสุดท้ายของชีวิต
เวลา 2.05 น. เรือชูชีพลำสุดท้ายจากไททานิกไป ขณะนั้นด้านหัวเรือจมไปหมดแล้ว คนที่ยังอยู่บนเรือพากันมาชุมนุมที่ดาดฟ้าตอนท้ายเรือ
เวลา 2.18 น. มีเสียงดังกึกก้องกัมปนาทจากบนเรือ ไฟบนเรือดับทั้งหมด จากนั้นไม่นานไททานิกก็จมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกท่ามกลางคืนอันหนาวเหน็บและมืดมิด คงเหลือไว้เพียงเรือชูชีพที่บรรทุกสตรีและเด็กและร่างที่ลอยคออยู่ในมหาสมุทรเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ลอยคออยู่ในมหาสมุทรแม้จะมีเสื้อชูชีพแต่ก็เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเนื่องจากความหนาวเย็นของน้ำทะเล ส่วนกัปตันสมิทเชื่อว่าเสียชีวิตไปพร้อมกับเรือไททานิก
ผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นบางคนเล่าว่าขณะที่ตนอยู่ในเรือชูชีพได้เห็นเรือลึกลับลำหนึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในระยะไกล แต่ก็ไม่มาช่วย รวมทั้งบางคนยังเล่าว่าเห็นเรือไททานิกหักออกเป็น 2 ท่อนโดยส่วนหัวจมลงไปก่อน หลังจากนั้นท่อนท้ายที่ถูกยกขึ้นมาก็หักกลาง จากนั้นท่อนท้ายเรือก็จมตามลงไป
เวลา 3.30 น. เรือคาร์เพเทียมาถึงที่เกิดเหตุหลังจากที่ไททานิกจมไปกว่าหนึ่งชั่วโมง คาร์เพเทียใช้เวลาอยู่ ณ ที่เกิดเหตุจนถึง เวลา 8.50 น. จึงออกเดินทางมุ่งสู่นิวยอร์ก โดยช่วยผู้ที่รอดชีวิตจากเรือมรณะมาได้ 705 คน
18 เมษายน เวลาประมาณ 9.00 น. เรือคาร์เพเทียก็ได้มาถึงเมืองนิวยอร์ก มีผู้ที่มารอที่ท่าเรือถึงหนึ่งแสนคนเพื่อรอรับฟังข่าวภัยพิบัติทางเรือครั้งร้ายแรงนี้
หลังจากนั้นทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษต่างก็พยายามสอบสวนหาสาเหตุของอุบัติภัยในครั้งนี้ รวมทั้งสรุปยอดผู้เสียชีวิต ซึ่งทำให้ได้ทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าในคืนที่เกิดเหตุ เรือแคลิฟอร์เนียนอยู่ใกล้ไททานิกยิ่งกว่าเรือคาร์เพเทียเสียอีก แต่เหตุที่เรือแคลิฟอร์เนียนไม่ได้มาช่วยเหลือเพราะพนักงานวิทยุโทรเลขหลับจึงไม่ได้รับสัญญาณขอความช่วยเหลือ
ยังมีปริศนาอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้รับความกระจ่าง เป็นต้นว่า เรือลึกลับ ที่มีผู้รอดชีวิตเห็นในช่วงเวลาที่ไททานิกกำลังอับปางนั้นคือเรือลำใดแน่ บ้างก็เชื่อว่าเป็นเรือแคลิฟอร์เนียน แต่บ้างก็คิดว่าอาจไม่ใช่เพราะหลักฐานเท่าที่สอบสวนได้ยังไม่เพียงพอที่จะชี้ชัดลงไปเช่นนั้นรวมทั้งเรื่องที่ว่าไททานิกอับปางในลักษณะใดกันแน่ จากคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตที่ว่าไททานิกหักเป็น 2 ท่อนนั้น ผู้เชี่ยวชาญในสมัยนั้นรวมทั้งคนทั่วไปไม่ค่อยให้ความเชื่อถือนัก คิดว่าผู้เล่าเห็นเหตุการณ์ไม่ชัดและเล่าผิดพลาดมากกว่า ส่วนใหญ่คงเชื่อว่าเรือไททานิกจมลงไปทั้งลำ
ผลจากการที่พนักงานวิทยุโทรเลขของเรือแคลิฟอร์เนียนหลับ เป็นเหตุให้ไม่สามารถไปช่วยไททานิกได้ทัน ทำให้ต่อมามีการเพิ่มเติมกฎเกี่ยวกับการเดินเรือขึ้นมา นั่นคือเรือทุกลำต้องมีพนักงานวิทยุอยู่ประจำหน้าที่ตลอดเวลา และในปี ค.ศ. 1913 หน่วยเรือลาดตระเวนสำรวจภูเขาน้ำแข็งก็ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อสำรวจเส้นทางและแจ้งเตือนเกี่ยวกับภูเขาน้ำแข็งในเส้นทางเดินเรือสายแอตแลนติกเหนือ
ชีวิตที่ยังเหลืออยู่
หายนะภัยไททานิกครั้งนี้มีผู้รอดชีวิตทั้งสิ้นกว่า 700 คนและมีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน นับเป็นภัยพิบัติครั้งร้ายแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเดินเรือ
อันที่จริงแล้ว ผู้ที่รอดชีวิตจากเรือไททานิกมิได้มีแต่เพียงผู้หญิงและเด็กเท่านั้น แต่ยังมีชายด้วย จากการสรุปข้อเท็จจริงพบว่าชายที่รอดชีวิตมีทั้งผู้โดยสารชั้น 1, 2, 3 และลูกเรือ
บุคคลที่รอดชีวิตบางคนที่น่ากล่าวถึงคือ เจ. บรูซ อิสเมย์ กรรมการผู้จัดการไวต์สตาร์ ผู้คนส่วนใหญ่ต่างสงสัยกันว่าอิสเมย์รอดมาได้อย่างไรทั้งๆที่ผู้ชายส่วนใหญ่เสียชีวิตหมดเนื่องจากสละที่นั่งให้แก่สตรีและเด็ก ชีวิตในช่วงหลังของอิสเมย์ต้องล้มละลายทางเกียรติยศเพราะสังคมตราหน้าว่าเขารอดมาได้เพราะแย่งที่ของสตรีและเด็ก
บางคนก็พูดกันว่าอิสเมย์พรางตัวเป็นหญิงเพื่อลงเรือ แต่อิสเมย์ชี้แจงว่าตนลงเรือชูชีพลำสุดท้าย เมื่อเห็นยังมีที่ว่างจึงได้ลงเรือไปและก็ไม่ได้พรางตัวเป็นสตรีแต่อย่างใด
Molly Brown
นางมอลลี บราวน์ (เป็นผู้ที่ให้แจ็กยืมชุดใหญ่ใส่เพื่อไปงานเลี้ยงอาหารในภาพยนตร์) ซึ่งเป็นพวกเศรษฐีใหม่ที่เดินทางไปกับเรือไททานิก เมื่ออยู่ในเรือ ชูชีพนางบราวน์ได้แสดงความเข้มแข็งและกล้าหาญ ในสภาพที่ทุกคนหมดเรี่ยวแรง เธอได้แสดงบทบาทผู้นำโดยให้สั่งคนในเรือช่วยกันพายเรือมุ่งไปยังเรือคาร์เพเทีย และพยายามช่วยคนที่ตกน้ำ หลังจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ชีวิตของนางบราวน์ก็รุ่งเรืองขึ้น จากเดิมที่สังคมชั้นสูงในเมืองเดนเวอร์ไม่ยอมรับเธอ แต่จากวีกรรมอันกล้าหาญทำให้เธอก้าวไปไกลถึงขนาดได้รับเสนอการชื่อให้เข้าชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกทีเดียว รวมทั้งยังมีผู้นำเรื่องราวของเธอไปสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่อย่างไรก็ดี ในบั้นปลายของชีวิต เธอก็เปลี่ยนไปกลายเป็นคนที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัว
เจ้าหน้าที่ของเรือไททานิกที่รอดชีวิตไม่มีใครเลยสักคนเดียวที่สามารถก้าวไปถึงตำแหน่งกัปตันเรือ
และเมื่อต้นปี ค.ศ. 1997 นางเอดิท ไฮส์แมน ผู้ที่มีชีวิตรอดจากเรือไททานิกที่มีอายุมากที่สุดก็ได้เสียชีวิตลง เธออยู่ในเหตุการณ์เรือไททานิกเมื่ออายุ 15 ปีและเสียชีวิตลงเมื่ออายุได้ 100 ปี
- เพิ่มเติม - ข้อมูลน่าสนใจของเรื่องอีก 2 ลำ
เรือ RMS Olympic จากที่อ่านในข้อมูลของคุณภีมก็คือเรือลำนี้ต้องถูกส่งซ่อมเป็นเวลา 6 เดือน เพราะเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกับเรืออีกลำที่ชื่อ HMS Hawke ด้วยสาเหตุที่สรุปออกมาว่ามาจาก ขนาดและความเร็วของเรือ Olympic มีผลทำให้เกิดกระแสน้ำดึงเอาเรือ Hawk เข้าไปทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว
หลังจากการจมของเรือ Titanic ทำให้เรือ Olympic ต้องมีการปรับปรุงขนานใหญ่เพื่อความปลอดภัยเป็นเวลา 6 เดือน เช่นการเพิ่มความแข็งแรงของส่วนล่างของเรือ และที่แน่นอน คือการรวมถึงการเพิ่มเรือชูชีพเข้าไปอีกด้วย
ในปี 1914 (2 ปีกว่าหลังเรือ Titanic จม) เรือโอลิมปิกได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นเรือรบเพื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 และอยู่รอดจนจบสงคราม และถูกนำกับมาใช้เป็นเรือโดยสารเหมือนเดิมในปี 1920 ในกระทั่งในปี 1935 เรือได้เดินทางขนส่งผู้โดนสารเป็นเที่ยวสุดท้ายแล้วกลับเข้าอู่เรือในเมือง Southampton และถูกขายต่อให้บริษัทอุตสาหกรรมโลหะ และถูกแยกชิ้นส่วนในปี 1937 นับว่าเป็นเรือลำเดียวจากทั้งหมดที่หมดอายุการใช้งานบนบกครับ
ส่วนเรือน้องเล็กสุดคือเรือ RMS/HMHS Britannic ถูกปล่อยลงทะเลในปี 1914 โดยคาดว่าจะใช้รับส่งผู้โดยสารเพื่อข้ามมหาสมทร Atlantic แต่ก็เป็นแค่ความฝันเพราะในตอนต้นปี 1915 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นมาเลยทำให้เรือต้องถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นเรือพยาบาล (Hospital Ship) เดินทางในคาบสมุทร Mediterranean แทน เพื่อดูแลทหารที่บาดเจ็บที่ถูกส่งมารักษาบนเรือ แต่เป็นที่น่าเศร้าเพราะในปี 1916 เรือได้อัปปางลง เนื่องจากโดนทุ่นระเบิดจากเรือดำน้ำฝ่ายเยอรมัน ที่ยังหลงเหลือจากการกู้ระเบิดในเส้นทางดังกล่าว จึงส่งผลให้เรือเสียหายหนักและอัปปางลงในระยะเวลา 55 นาที หลังการเดินทางเพียง 6 ครั้ง เท่านั้น
TITANIC ในปี 1997 คับผม ++
ไททานิก ในปี 1997
หมายเหตุ : จะไม่พูดถึงเนื้อเรื่องอันแสนประทับใจนะคับ เพราะว่าหลาย ๆ คนคงผ่านตากันมาเยอะแล้ว
เจมส์ คาเมรอน
ประกาศสร้าง
จากประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลือให้ติดตามจากอดีต จนในปี 1997 ผู้กำกับมือดีอย่าง James Cameron ได้ประกาศว่าจะจับประวัติศาสตร์เรื่องนี้ให้มาโลดแล่นอยู่บนแผ่นฟิล์ม โดยอยู่ในการควบคุมและลงทุนในการสร้างระหว่าง 2 สตูดิโอยักษ์ใหญ่คือ 20 Century Fox และ Paramount Picture โดยสรุปแล้วทุนสร้างที่สร้างสรรค์อภิมหาโปรเจ็กต์ชั้นเยี่ยมยอดเรื่องนี้หมดไปประมาณ 200 กว่าล้านเหรียญ
ซึ่งในตอนนั้นหนังจัดว่าเป็นหนังที่มีการลงทุนสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ฮอลลีวู้ด นี่ยังไม่รวมที่สตูดิโอต้องลงงบการสร้างข่าวและงบโปรโมตที่ต้องโหมกระน่ำมาก ๆ ถึงจะทำให้หนังเป็นประวัติการณ์ขึ้นมาได้ จนทำให้เกิดข่าวหนาหูว่าหนังจะต้องเป็นความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ของฮอลลี้วู้ดแน่ ๆ บรรดานักวิจารณ์หลาย ๆ สถาบันมองเลยว่าจะต้องเป็นความอัปยศอดสูครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของคาเมรอนเลยทีเดียวหลังจากสร้างหนังฮิตให้ตัวเองในอดีตก้อมี Aliens Terminator 2 : Judgement Day และTrue Liesล้วนแล้วแต่ก้อเป็นหนังแอ็คชั่นผจญภัยไซไฟ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอดีตที่ผ่านมา ไททานิกจึงถือเป็นงานหินมาก ๆ สำหรับคาเมรอนในตอนนั้น
เริ่มการถ่ายทำ
ด้วยความที่คาเมรอนนั้นวิสันทัศน์ที่กว้างไกล ผกก. คนนี้จึงต้องรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกียวกับไททานิกให้มากที่สุดเสียก่อน ก่อนการถ่าย จึงเกิดโปรเจ็กต์ย่อยขึ้น คือ การสำรวจซากที่เหลืออยู่ของไททานิกก่อนเป็นขั้นแรกเพื่อให้เข้าใจในองค์ประกอบของเรือและประวัติศาสตร์ของยุดสมัยต้นศตวรรษที่ 20 อย่างถ่องแท้เพื่อมาใช้ในการถ่ายทำ (ภายหลังจากไททานิกประสบความสำเร็จนั้น คาเมรอนจึงทำส่วนนี้มาเป็นหนังสารคดีที่ชื่อ Ghost of the Abyss ที่ฉายตามโรง IMAX แล้วประสบความสำเร็จเช่นกัน)
เริ่มการถ่ายทำนั้น ตอนนั้นคาเมรอนเองอยากได้นักแสดงที่มีฝีมือที่โดดเด่น ที่น่าจับตามอง ที่เป็นขวัญนักวิจารณ์ และอายุน้อย และเป็นที่ นักแสดงมากความสามารถอย่าง Leonado Dicaprio วัย 23 ปี (เข้าชิงรางวัลออสการ์สมทบชายยอดเยี่ยมตอน 19 ปี จาก Whats Eating Gilbert Grape ในปี 1993) และสาวสวยฝีมือดีจากเมืองผู้ดีอย่าง Kate Winslet (เข้าชิงรางวัลออสการ์สมทบหญิงตอน 20 ปี จาก Sense and Sensibility ในปี 1995) เข้ามารับบทพระนาง Jack & Rose ที่จะเล่าความรักอันอมตะคู่ไปบโศกนาฏกรรมเรือล่มครั้งนี้ แต่การเลือกนักแสดงของคาเมรอนในครั้งนี้เกิดเสียงครหาหนาหูจากนักวิจารณ์ไปทางไม่ดีว่า ทั้งคู่นั้นถึงจะมีการเข้าชิงรางวัลออสการ์การันตีฝีมือแล้วแต่นักแสดงอย่าง ลีโอ และ เคตยังไม่สามารถที่จะเจาะคนดูได้ในกลุ่มกว้าง ๆ ได้ถ้าหนังนั้นยังอยากที่จะสร้างปรากฏการณ์ในตอนเปิดฉาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถืออยู่เหมือนกัน เพราะว่าสองคนนี้ในช่วงยุค 90s ถือว่าเป็นนักแสดงที่ยังไม่โด่งดังอะไร เป็นที่ลีโอนั้นมีฐานแฟนวัยรุ่นที่ติดตามอยู่มากเท่านั้นเอง ซึ่งนับในตอนนี้ถือว่าได้ว่านักวิจารณ์บางทีก้อเชื่ออะไรไม่ได้เหมือนกัน เราต้องไปพิสูจน์เอง
ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ
เคต วินสเลต
พอองค์ประกอบครบ คาเมรอนจึงสั่งเดินกล้องการถ่ายทำที่ลากยาวเกือบขวบปี เพราะจากรายละเอียดและองค์ของหนังที่คาเมรอนใส่ไปในบทหนังนั้นมีเยอะมาก และงานโปรดักชั่นที่ใหญ่ที่สุดก้อคือ คาเมรอนต้องการสร้างเรือจำลองที่มีแบบและขนาดที่เท่ากับลำจริงของไททานิก ที่จะใช้ในการถ่ายทำ โดยทางสตูดิโอในตอนแรกต่างลงความเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดนสิ้นเปลือง เพราะเราสามารถถ่ายฉากในเรือในส่วนต่าง ๆ ในสตูดิโอถ่ายทำและใช้ CG ปรับแต่งให้เหมือนจริงได้ แต่คาเมรอนปฏิเสธคำแนะนำละใช้งบสร้างไปกว่าครึ่งในการสร้างเรือไททานิกจำลองขึ้นที่อ่านเม็กซิโกชายฝั่งอเมริกาที่มีขนาดเท่าลำจริง เพื่อใช้ในการถ่ายทั้งหมดของเรือและนาทีมรณะของหนังซึ่งจะต้องทำออกมาให้สมจริงสมจังมากที่สุด จนในที่สุดขั้นตอนการถ่ายทำผ่านกล้อง Panavision ซึ่งเป็นกล้องที่คาเมรอนและเพื่อนร่วมกันพัฒนานั้นเป็นกล้องที่นำมาลองใช้ในหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ( และต่อมากฮอลลี้วู้ดก้อใช้บริการกล้องนี้ถ่ายทำหนังเรื่อยมา ) โดยในขั้นตอนการถ่ายทำถือว่าผ่านไปด้วยดีภายใต้การกำกับด้วยสายตาที่เฉียบคมของคาเมรอนเอง
งานโพสโปรดักชั่นเหมือนกัน ซึ่งถือได้ว่า เป็นขั้นตอนที่หินและเกิดปัญหามากที่สุดของไททานิกเลย เพราะหนังจะต้องใช้ CG จำนวนมากในการสร้างความสมจริงของตัวเรือและนาทีมรณะของหนังที่จะต้องเจาะถึงความละเอียดมากมาย ขั้นตอนนี้จึงใช้เวลานานมาก ๆ กว่าจะเสร็จนั้นหนังก้อใกล้วันเปิดตัวเต็มที แบบว่าเสร็จหวุดหวิดก่อนส่งฟิล์มออกสู่โรงภาพยนต์ทั่วโลกเลยคับ และพร้อมที่จะฉายสุ่สายตาบรรดาแฟนหนังและนักวิจารณ์ให้พิสูจน์ถึงความอลังการงานสร้างของคาเมรอน
พรีเมียร์ 19 ธค. 1997
ซึ่งสร้างความฉงนให้นักวิจารณ์หลายสถาบันว่า งานสร้างออกยิ่งใหญ่ขนาดนี้และทำไมสตูดิโอถึงเลือกที่จะเปิดท้ายปีอย่างงี้ ตามธรรมดาแล้วหนังที่สร้างปรากฎการณ์จากอดีตและปัจจุบันจะเลือกเปิดตัวหนังช่วงซัมเมอร์ซึ่งเป็นช่วงที่น่าจะได้กำไรให้กับหนังมากที่สุดแล้ว แต่สตูดิโอและคาเมรอนไม่คิดที่จะโกยเงินอย่างเดียว หนังยังหวังที่จะเป็นเจ้าของควาสำเร็จในสถาบันรางวัลที่จะมอบแด่ภาพยนตร์ด้วยรวมไปถึงรางวัลที่ Academy Award หรือ รางวัลออสการ์ ซึ่งถือว่าสุดยอดที่สุดของวงการภาพยนตร์แล้ว หนังจึงเลือกเปิดตัวในช่วงที่ปลายปีเพื่อความหวังในการเข้าชิงรางวัลต่างของทุกสถาบันต่าง ๆ และความสำเร็จนั้นได้ถ่าโถมเข้ามานับตั้งแต่หนังได้ผ่านสายตาผู้ชมทั่วโลกไป
หนังเป็นความสำเร็จระดับตำนานหน้าใหม่ของฮอลลีวู้ดทันทีเมื่อหนังขึ้นด้วย เรต PG-13 (คือหนังที่เด็กอายุต่ำกว่า 13 ไปดูต้องผู้ปกครองไปดูด้วยเพราะมีฉากรุนแรงหรือฉากอย่างว่าเกินวุฒิภาวะของเด็กจะรับได้) ในปี 1997 หนังสามารถลบคำปรามาสของทุกคนที่คิดว่าหนังจะต้องล้มเหลวแน่ ๆ หนังได่ถูกกล่าวถึงว่า ไททานิกจะต้องเป็นความสำเร็จระดับตำนานต่อไปมหากาพย์หนังรักเรื่อง Gone with the Wind ในปี 1939 แน่นอนคือได้ทั้งเงินและรางวัลกลับไปแบบถล่มทลาย (โดยเรื่องนี้หนังประสบความสำเร็จโกยเงินสูงถึง 193 ล้านเหรียญในปี 1939 โดยคิดเป็นค่าเงินตอนนี้ประมาณ 1.32 พันล้านเหรียญรวมทั้งเข้าชิงรางวัลออสการ์ 14 รางวัลและกวาดเรียบไป 11 รางวัลรวมถึง รางวัลใหญ่คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย)
ย้อนกลับไปเมื่อ 58 ปี ก็ถ้า Gone with the Wind จะเคยเป็นตำนานในค่ำคืนของการเปิดตัวที่คุณภาพในตัวปิดปากผู้ที่เคยดูถูกหนังว่าจะต้องเป็นที่สุดของความล้มเหลวตลอดกาลยังงัย การเปิดตัวในวันที่ 19 ธค.1997 ของไททานิกนั้น ก้อได้อารมณ์แบบเดียวกันนั้น ไททานิก มาพร้อมตำแหน่งหนังที่ใช้ทุนสร้างมากที่สุดในระวัติศาสตร์ในตอนนั้นและ 200 ล้านที่ใช้หนังไปก็ปรากฎอยู่บนจอโดยไม่มีตกหล่น คาเมรอนกลายเป็นขวัญใจนักวิจารณฺ (อีพวกกลับลิ้นโคตรจะเบื่อ) และแฟนหนังโดยทันที ในฐานะผู้กำกับหนังสามชั่วโมงครึ่งไม่เพียงแต่จะถึงคุณภาพตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว แต่หนังยังมีครบทุกอรรถรส ทั้งความเป็น ดราม่า ตื่นเต้น แอ๊กชั่น และความรักที่เบ่งบานระหว่างคนต่างชนชั้นที่กีดกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งประการหลัง ได้สุดยอดฝีมือทั้งสองอย่าง ลีโอ และ เคต ได้ฝากบทบาท เป็นที่มาของรักอมตะ และ ความทรงจำอันเยี่ยมยอดกับคนดูอย่างน่าประทับใจ และทำให้ ลีโอ และเคต เป็นที่จับตามองและดังเป็นพลุแตกจากหนังเรื่องนี้เป็นต้นมาของฮอลลีลู้ดเลยทีเดียว
ไม่เพียงแต่จะถูกใจผู้ชมทั่วไปเท่านั้น หนังยังสามารถเรียกผู้ชมวัยรุ่นโดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบลีโอ อยู่เป็นทุนอยู่แล้วเข้ามาให้การอุดหนุนมากกว่า 1 รอบ และนี่เป็นสาเหตุที่ไททานิกสามารถเจาะกลุ่มคนดูได้กว้างมากที่สุด จนทำให้ ไททานิก ขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุดในอเมริกา (600 ล้านเหรียญ) และทั่วโลกด้วย (รวมแล้วหนังโกยมโหฬารไปได้ถึง 1,800 ล้านเหรียญทั่วโลก) ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีหนังเรื่องที่จะมีวี่แววที่จะมาล่มเรือนี่ให้ออกจากตำแหน่งสุดยอดขนาดนี้ได้เลย
อีกทั้งจากการประสบความสำเร็จในการฉายอย่างมโหฬารขนาดนั้น ออสการ์ยังมอบรางวัลแด่คุณภาพของภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมเรื่องนี้ไปถึง 11 รางวัล จากการเข้าชิงทั้งหมด 14 รางวัล ซึ่งถือเป็ประวัติศาสตร์มากที่สุดของยุค 90s ที่หนังเรื่องนึงจะสามารถโกยรางวัลออสการแบบเหมาหมดไปได้ถึง 11 รางวัล ( สถิติเท่ากับ Gone with the Wind ) ก้อถ้า Gone with the Wind ยังคลาสสิคเหนือกาลเวลาขนาดนั้น ในปีที่ ไททานิกเปิดตัวนั้น ต้องติดตามกันต่อไปว่าเรื่องนี้ จะคลาสสิคเข้าตาผู้ชมรุ่นใหญ่ ต่อจากนี้ได้ดีแค่ไหนในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ก็อย่างที่เอ่ยถึงในตอนนั้น มาถึงตอนนี้ตำนานของไททานิกนั้น เพื่งจะผ่านไปได้เพียง 10 ปีเท่านั้นเอง
-----
สถิติของ TITANIC
Summary
Domestic : $600,788,188 32.6%
Foreign : $1,244,246,000 67.4%
--------------------------------------------------------------------------------
Worldwide: $1,845,034,188 คือหนังที่ทำรายได้ทั่วโลกมากที่สุดในขณะนี้
สถิติอันดับ 1 ในหลาย ๆ ชาร์ตในขณะนี้
- หนังมันตภัยโลกที่ทำรายได้มากที่สุดตลอดการ ที่ 2 คือ Independence Day 306.1 ล้านเหรียญ
- หนังโรแมนติกดราม่าทำรายได้มากที่สุดตลอดกาล ที่ 2 คือ Ghost 217.6 ล้านเหรียญ
- ผลงานที่ทำรายได้สูงที่สุดในอเมริกาขณะนี้ด้วยยอดรางรับสูงถึง 600.8 ล้านเหรียญ ที่ 2 คือ Star Wars 460.8 ล้านเหรียญ
- ผลงานทำเงินทั่วโลกสูงสุดตลอดกาล ด้วยยอด 1.8 พัน้ลานเหรียญ ที่ 2 คือ The Lord of the Rings: The Return of the King 1.12 พันล้านเหรียญ
- หนังปี 1997 ทำเงินสูงสุดตลอดกาล ที่ 2 คือ Men in Black 250.7 ล้านเหรียญ
- ผลงานเรต PG-13 ทำรายได้มากที่สุดตลอดกาล ที่ 2 คือ Star Wars 460.8 ล้านเหรียญ
- ผลงานที่อยู่อันดับ 1 นานที่สุดตลอดกาล ถึง 15 สัปดาห์ (3 เดือนกว่า) ที่ 2 คือ Baverly Hill Cops ในปี 1984 ที่ทำได้ 13 อาทิตย์
- หนังที่ทำรายได้อาทิตย์ที่ 4 และ 5 และ 6 และ 7 และ 8 และ 9 ได้มากที่สุดตลอดกาล คือ 28.7 ล้านเหรียญ 30.0 ล้านเหรียญ 25.2 ล้านเหรียญ 25.9 ล้านเหรียญ 23.2 ล้านเหรียญ 28.1 ล้านเหรียญ ตามลำดับ ซึ่งในอาทิตย์เปิดตัว หนังไปได้ 28.2 ล้านเหรียญเท่านั้นเอง
รางวัล
The Academy Award 14 Nominationed ออสการ์เช้าชิง 14 รางวัล สามารถกวาดเรียบกลับไปได้สูงถึง 11 รางวัล ซึ่งในขณะนี้มีเพียง 3 เรื่องที่ทำได้ขนาดนี้คือ Gone with the Wind ในปี 1939 และ The Lord of the Ring : The Returns of the King ในปี 2003 ซึ่งเข้าชิง 11 รางวัลและรับกลับบ้านทุกรางวัลที่เข้าชิงเลย
TITANIC
Studio: Paramount
Release Date: December 19, 1997
Domestic Gross: $600,788,188
Prod. Budget: $200 million
Mktng. Budget: $40 million - ที่เจงข่าวออกมาว่าใช้งบการตลาดและโปรดมตไปถึง 85 - 90 ล้านเหลยทีเดียว
Running Time: 194 mins.
Genre: Romance
MPAA: PG-13 (disaster related peril and violence, nudity, sensuality and brief language)
ACADEMY AWARDS NOMINATIONS
Picture (WIN) - ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
Director (WIN) : James Cameron ผู้กำกับยอดเยี่ยม
Actress: Kate Winslet
Supporting Actress: Gloria Stuart
Editing (WIN) - ตัดต่อยอดเยี่ยม
Cinematography (WIN) - กำกับภาพยอดเยี่ยม
Art Direction (WIN) - กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม
Costume Design (WIN) - ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
Makeup
Visual Effects (WIN) - วิชวลเอ็ฟเฟกต์ยอดเยี่ยม
Sound (WIN) - บันทึกเสียงยอดเยี่ยม
Sound Editing (WIN) - ตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม
Original Dramatic Score (WIN) : James Horner - เสียงประกอบยอดเยี่ยม
Original Song (WIN) : "My Heart Will Go On" - เพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
Total Nominations: 14
Total Wins: 11
คลิกตรงนี้เพื่อดูรายชื่อผู้เข้าชิงทั้งหมด >> Click ++
-----
Ending Credit :
Google
Imageshack
Boxofficemojo.com
Titanic.com
ร้านหนังสือแถวบ้าน
คอมพิวเตอร์และคียบอร์ดคู่ใจ
บอร์ดคนรักหนัง/Thai DVD.com
และเหนือสิ่งอื่นใด ขอขอบคุณทุกคนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้คับผม ++
แก้ไขล่าสุดโดย Johnny Fever เมื่อ Fri Jul 27, 2007 1:54 pm, ทั้งหมด 4 ครั้ง
_________________
I can make the bad guy good for a weekend.