
http://hysteriaculture.wordpress.com/2013/08/25/britney-spears-the-essential-britney-spears-dance-popelectropoprbteen-pop-90-4-55/comment-page-1/#comment-129
http://www.facebook.com/hysteriaculture
Britney Spears : The Essential Britney Spears : Dance-Pop/Electropop/R&B/Teen Pop (90% = 4.5/5)
เอาจริงๆแล้วเคยประกาศจุดยืนของตัวเองไว้หลายครั้งว่าเป็นคนที่ไม่ชอบเขียนวิจารณ์ถึงงานจำพวกรีมิ๊กซ์และรวมฮิตเนื่องจากเป็นอะไรที่ต้องใช้ความรู้สึกล้วนๆในการคำนวณคะแนนมากกว่ามาตรฐานส่วนตัวในการคำนวณที่ค่อนข้างจะยุติธรรมกับศิลปินมากกว่าแต่ถ้าถามว่าชอบฟังงานจำพวก รวมฮิต ของศิลปินมั้ยนี่ก็ต้องขอบอกว่า ชอบค่ะ! เพราะทำให้เราสามารถรับรู้ถึงจุดเริ่มต้นของศิลปินท่านนั้นๆก่อนจะเป็นทางลัดในการติดตามพัฒนาการและการเจริญเติบโตของศิลปินให้เราได้ความรู้จักกับตัวตนทางผลงานของเขาได้โดยสังเขปแม้จะไม่สามารถสะท้อนหรือฟันธงบ่งบอกถึงทุกสิ่งอันได้อย่างชัดเจนครบถ้วนก็ตามทีเพราะส่วนตัวเชื่อว่าถ้าอยากจะรู้จักกับตัวตนของศิลปินจริงๆในแต่ละสตูดิโออัลบั้มจะสามารถบ่งบอกสภาวะทางความรู้สึกและอัตตะในแต่ละช่วงเวลาของพวกเขาแจ่มชัดกว่า
อย่างไรก็ตามทุกกฏย่อมมียกเว้นนะคะเพราะถ้าวันหนึ่งเราเกิดเจออัลบั้มรวมฮิตดีๆที่ฟังแล้วถูกใจมากๆอยากเขียนถึงสักชุดอันนี้ก็ต้องยกความดีความชอบและผลพลอยได้ให้แก่ศิลปินและตัวอัลบั้มไปอย่างเช่น The Essential Britney Spears ชุดนี้ที่ถูกจริตและฟังได้เพลิดเพลินเจริญใจไหลลื่นมากๆอาจจะเป็นเพราะว่าส่วนตัวดิฉันเป็นแฟนคลับของบริทนี่ย์ที่เหนียวแน่นมาตั้งแต่ยุคแรกๆเลยก็มีส่วนพอได้มีโอกาสหยิบงานชุดนี้มาฟังแล้วมันก็เหมือนกับได้ดื่มด่ำกับเรื่องราวในชีวิตดีๆที่เคยเกิดขึ้นโดยที่มีเสียงเพลงของเธอคลอเคลียไปกับหลากหลายความทรงจำอันแสนสุขของเราหนึ่งในสิ่งที่ชอบในการฟังงานชุดนี้คือได้เห็นเงาสะท้อนของความเป็นบริทนี่ย์ในทุกช่วงเวลาจะว่าไปเวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วจนน่าใจหายเพราะเหมือนกับเพิ่งจะเมื่อวานเองมั้งที่เธอออกอัลบั้ม Baby One More Timeมาพอฟังจบลืมตาขึ้นมาแล้วมันอารมณ์ประมาณว่า นี่ฉันกับเธอเราโตมาพร้อมๆกันก้าวผ่านกาลเวลามาเป็นสิบกว่าปีด้วยกันแล้วเหรอนี่!!! - นี่ใช่มั้ยคือความผูกพัน?
อย่างไรก็ตามในสิ่งที่เรียกว่า งานวิจารณ์ เราคงต้องใส่เหตุผลและความยุติธรรมเข้าไปมากกว่าความรู้สึกนะคะเพราะสำหรับคนที่เป็นแฟนคลับบริทนี่ย์ในแง่ของความรู้สึกเมื่อได้ยินงานรวมฮิตจัดเต็มขนาดนี้จากเธอเรื่องความประทับใจก็คงมาเต็ม - ว่าแต่นี่ Official มั้ยไม่ทราบ? ทำไมดิฉันถึงไม่ทราบข่าวคราวว่าจะมีอัลบั้มนี้ออกมา?นี่นั่งเขียนวิจารณ์โดยไม่ได้เช็คข่าวจริงๆ - แต่ถามว่ามีอะไรสะดุดในรวมฮิตชุดนี้มั้ย? ก็ใช่ว่าจะไม่มี! เพราะ The Essential Britney Spears ชุดนี้เมื่อนำไปเทียบกับ My Prerogative แล้วคงต้องบอกว่าเรื่องพลังและมิติในการเรียบเรียงสู้ไม่ได้จริงๆถึงจะมีเพลงเยอะกว่าและยิงยาวมาถึงบริทนี่ย์ยุคล่าสุดก็ตามทีแต่งานชุดนี้เหมือนกับปล่อยให้ไหลไปเรื่อยเปื่อยตั้งแต่สมัยอัลบั้มแรกขึ้นไปเรื่อยๆเหมือนกับจะปล่อยให้อัลบั้มเรียบเรียงตัวมันเองมากกว่าซึ้งก็โชคดีที่ความเป็นพ็อพของบริทนี่ย์ค่อนข้างโดดเด่นและชัดเจนในอัตลักษณ์ของเธอพอตัวจึงไม่เป็นปัญหาใดๆ เรื่องของเพลงนี่ขนมา แทบ จะทุกซิงเกิ้ลฮิตแต่บางเพลงอย่าง Hot As Ice หรือ Out From Under นี่ไม่ทราบว่าท่านผู้เรียบเรียงแทร็คลิสต์ใส่มาทำไม? แต่เพลงที่น่าใส่อย่าง Born To Make You Happy กับ Dont Let Me Be The Last To Know ดันไม่ใส่หน้าปกรึก็เรียบเนียนเฉิ่มเชยบ้านมากๆสมธรรมเนียม Essential แต่นี่ของระดับเจ้าหญิงเพลงพ็อพทั้งทีคุณ Creative ไม่คิดจะทำให้มันดูมีความน่าดึงดูดสมกับเป็น The Essential ของบริทนี่ย์ สเปียรส์บ้างหรือ? อาร้ายมองไปมองมานึกว่าอัลบั้มใหม่ของ เฟธ ฮิล คันทรี่ย์ คันทรี่ย์ค่ะ แต่บ่นซะขนาดนี้นี่ฟังไปไม่รู้กี่รอบแล้วค่ะฟังเพลินมาก เหอๆ
สำหรับพาร์ทช่วงรีวิวแทร็คลิสต์นี้ส่วนตัวขอหยิบมาเฉพาะเพลงที่ชอบและเห็นว่าเป็นไฮไลท์ของบริทนี่ย์จริงๆนะคะ อย่างที่กล่าวไปข้างบนว่าชอบอัลบั้มนี้ตรงที่เป็นเหมือนกับการที่เราได้ย้อนรอยมาติดตามพัฒนาการของบริทนี่ย์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเธอเริ่มด้วยตัวแทนจากอัลบั้ม Baby One More Time สตูดิโออัลบั้มชุดแรกของเธอในปี1999ที่สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลกนับว่าเป็นอัลบั้มที่ส่งให้บริทนี่ย์ขึ้นสู่การเป็นเจ้าหญิงเพลงพ็อพและเป็นสัญลักษณ์ของทีนพ็อพตลอดจนดนตรียุค90sตลอดกาลจวบจนวันนี้ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คงจะเป็นซิงเกิ้ลเปิดตัวที่เป็นไทเทิ่ลแทร็คชื่อเดียวกันกับอัลบั้มอย่าง Baby One More Time (5/5) งานพ็อพเต้นรำสุดทรงพลังอันเป็นหนึ่งในธีมเด็ดและตัวแทนที่สะท้อนวัฒนธรรมของดนตรีทีนพ็อพช่วงปลายทศวรรษ90sได้อย่างดีที่สุดกับงานพ็อพเต้นรำเจือบีทอาร์แอนด์บีกระฉึกกระฉักเจือจางให้อารมณ์เดียวกับความเท่ห์เปรี้ยวปราดกับดนตรีของสารพัดวงบอยแบนด์สมัยนั้นแต่เพลงนี้เด็กผู้หญิงคนเดียวคุมทางอยู่หมัดจนดังระเบิดระเบ้อไปทั่วทุกซอกมุมบนโลกส่งอานิสงส์ให้บริทนี่ย์ สเปียรส์กลายเป็นศิลปินที่มีอิทธิพลที่สุดของโลกไปในชั่วข้ามคืนเช่นเดียวกับวลีเด็ดอย่าง Hit Me Baby One More Time ที่ยังคงความขลังประดับPop Cultureมาจวบจนทุกวันนี้ มาที่ Sometimes (5/5) สลับมาเป็นงานมิดเทมโพใสๆหวานหูละเมียดละไมในแบบฉบับของงานเพลงแบบทีนพ็อพบริสุทธิ์หวานละมุนนุ่มหูที่สำคัญเมโลดี้และท่อนคอรัสของเพลงนี้ไพเราะบรรเจิดมากในแบบฉบับที่ทุกวันนี้มันเป็นอะไรที่หาไม่ได้แล้วในเพลงพ็อพสมัยนี้ ขอยกให้เป็นหนึ่งในเพลงที่ไพเราะที่สุดของบริทนี่ย์! ในส่วนของงานบัลลาดอย่าง From The Bottom Of My Broken Heart (4/5) ก็เป็นงานบัลลาดโชว์พลังเสียงตามธรรมเนียมทีนดิว่าที่ถ้าคริสทิน่ามี Reflection เจสซิก้า ซิมป์สันมี I Wanna Love You ForeverและMandy MooreมีI Wanna Be With You บริทนี่ย์ก็มีเพลงนี้แหละที่เป็นบัลลาดโลโก้ในยุคแรกสุดของตัวเอง
สำหรับอัลบั้มชุดที่สอง Oops! I Did It Again ที่เป็นพัฒนาต่อยอดที่นำเสนอบริทนี่ย์ในภาพลักษณ์ที่เปรี้ยวขึ้นโดยแม้ว่าจะลดทอนความหวานในแบบอัลบั้มที่แล้วลงไปอยู่บ้างแต่งานดนตรีของบริทนี่ย์ก็ยังเป็นงานพ็อพที่ติดหูและขยายฐานไปสู่ความเป็นเมนทสณีมในวงกว้างโดยซิงเกิ้ลเปิดตัว Oops! I Did It Again (4/5) แม้จะไปได้ดีสุดที่อันดับ9บนบิลบอร์ดชาร์ตแต่ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่บริทนี่ย์เขย่าบัลลังก์เพลงพ็อพไปทั่วโลกเลยทีเดียว ในส่วนของตัวเพลงแม้จะเป็นสูตรสำเร็จที่แปลงโฉม Baby One More Time สู่ความโฉบเฉี่ยวรับวัฒนธรรมของยุคมิลเลเนี่ยมอันเป็นงานอาร์แอนด์บีพ็อพเต้นรำบีทแสบทรวงสะเด็ดเด่า - อาร์แอนด์บีพ็อพ คืองานพ็อพโดยเนื้อแท้ที่ใส่อิทธิพลของอาร์แอนด์บีผิวสีเข้าไปพอมีกลิ่นหอมไม่เหมือนกับ พ็อพอาร์แอนด์บี ที่เป็นงานอาร์แอนด์บีที่บีบความเป็นเมนทสตรีมลงไปสูงจนมีความติดหู ละเมียดละไมและหวานพอรับประทานในแบบพ็อพ - ซึ่งถ้าไม่อคติก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลานั้น Oops! นี่ก็ถือว่าเป็นเพลงพ็อพที่โดดเด่นที่สุดแห่งปีทีเดียว ส่วนตัวเรามองว่าพัฒนาการของบริทนี่ย์เริ่มต้นในอัลบั้ม3กับงานชุด Britney ที่เธอขยับขยายไปเล่นกับภาคดนตรีที่หลากหลายขึ้นทั้งความเป็นเออร์บันที่สูงขึ้นโดยมีอิทธิพลของความเป็นอาร์แอนด์บีและฮิพฮอพที่ชัดเจนในตัวมากขึ้นตลอดจนความเป็นคลับแด๊นซ์ที่สูงขึ้นในตัวแม้ว่าโดยภาพรวมนจะยังไม่เด่นชัดเหมือนเป็นแค่งานชิมลางเพราะเพลงอื่นๆในอัลบั้มยังคงมีความเป็นทีนพ็อพบับเบิ้ลกัมสไตล์บริทนี่ย์อยู่มากแต่ก็นับว่าปูทางไปสู่อีกหลายงานของเธอในอนาคตได้ดีทีเดียว เริ่มกับ Im A Slave 4 U (4/5) ซึ่งก็นับว่าฉีกจากความหวานใสของซิงเกิ้ลเปิดตัวทั้งสองเพลงก่อนหน้าสู่ภาคดนตรีเต้นรำที่ร้อนแรงขึ้น จัดจ้านบนความเป็นเออร์บันที่ตลบอบอวนขึ้นตลอดจนจริตและมิติของตัวศิลปินเองที่ดูแพรวพราวมากขึ้นนับเป็นสัญญาณอันดีที่แฟนๆจะร่วมต้อนรับไปกับความเติบโตของเธอในอนาคต Im Not A Girl,Not Yet A Woman (4.5/5) เพลงประกอบภาพยนตร์จากเรื่อง Crossroads กับงานพ็อพบัลลาดสไตล์อดัลท์คอนเทมโพรารี่ย์บัลลาดเดินเรื่องอย่างเรียบง่ายด้วยเพียโนพลิ้วไสวซึ่งก็นับว่าดูมีหีบห่อกว่าหลายๆงานบัลลาดก่อนหน้านี้ของบริทนี่ย์ทีเดียว สมบูรณ์แบบทั้งในแง่ของเนื้อหา,เสียงร้องและความไพเราะของเมโลดี้ มาที่งานรีมิ๊กซ์ของซิงเกิ้ล Overprotected (4/5) กับฉบับ The Darkchild Remix สุดลือลั่นว่า ออกมาฆ่าต้นฉบับ ที่เปลี่ยนเพลงพ็อพเต้นรำธรรมดาๆให้กลายเป็นงานอาร์แอนด์บีพ็อพเปรี้ยวๆจนใกล้เคียงกับงานของพวก Destinys Child ซึ่งก็นับว่าบริทนี่ย์ไปกับซาวนด์ของทีมรีมิ๊กซ์นี้ได้ดีทีเดียว ก่อนที่ Boys (The Co-Ed Remix) (4.5/5) ที่ร่วมงานกับ ฟาร์เรลล์ วิลเลี่ยมส์ ก็นับว่าประกาศศักดาได้ดีสำหรับการขยับขยายไปทำดนตรีคลับแด๊นซ์กลิ่นเออร์บันตลบอบอวนขนาดนี้มาครบเครื่องทั้งอาร์แอนด์บี ฟั้งค์ ฮิพฮอพ เต้นรำ อิเล็คโทรนิคและดิสโก้ซึ่งร้อนแรงมากฝ่ายชายก็เกรียนฝ่ายหญิงก็แสบทรวง ที่เขียนมานี่เพลงดีๆและดังทั้งนั้จะคะแต่ดันสวนทางกับอันดับบนชาร์ตที่เหมือนกับบริทนี่ย์จะโดนสถานีวิทยุแบนในช่วงนั้น (เซ็งเป็ด!)
ในที่สุดก็มาถึงอัลบั้มของบริทนี่ย์ที่ส่วนตัวดิฉันโปรดปรานที่สุดขอยกให้ In The Zone ไปชนิดปราศจากข้อกังขาใดๆคือเนื้องานเป็นการระเบิดศักยภาพสูงสุดของบริทนี่ย์จริงๆชนิดแทร็คต่อแทร็คทั้งเอกภาพ วิสัยทัศน์และพัฒนาการทางดนตรีที่ส่วนตัวฟังแล้วถึงกับตบเข่าผาง มันต้องแบบนี้เส่ะ! แค่ซิงเกิ้ลเปิดอัลบั้ม Me Against The Music Ft. Madonna (5/5) ที่เป็นการปะทะกันของสุภาพสตรีแถวหน้าจากสองทศวรรษอย่างเจ้าหญิงเพลงพ็อพบริทนี่ย์และราชินีเพลงพ็อพอย่างเจ๊แม่มาดอนน่าแค่นี้ก็นับว่าโดดเด่นมากพอแล้วไม่นับภาคดนตรีที่เป็นงานพ็อพอาร์แอนด์บีเต้นรำสุดเร่าร้อนแถมภาคเนื้อหาที่นอกจากจะเกทับบลัฟ์แหลกกันเต็มที่ยังแฝงสาส์นที่เปรียบเสมือนการสืบทอดส่งต่อบัลลังก์ให้กันอย่างแนบเนียน พวกนี้นี่เข้าใจเล่นกับสัญลักษณ์นะคะ! ต่อด้วย Toxic (4.5/5) ก็นับว่าเป็นอิเล็คโทรพ็อพเต้นรำดีๆที่ขึ้นเป็นหนึ่งใน Dance Anthem ของบริทนี่ย์ไปเป็นที่เรียบร้อยก็นับว่ามีเสน่ห์ไม่ยอกกับการผสานซาวนด์อาร์แอนด์บีสุดเร่าร้อนและมิติของแซมเพิ่ลเครื่องสายที่ชวนให้นึกถึงหนัง 007 ไม่น้อยแต่ทั้งหมดทั้งมวลลงตัวสุดๆ จะว่าไปแล้วแอบเสียดายหลายๆเพลงดีๆในอัลบั้มที่ไม่มีโอกาสได้เป็นซิงเกิ้ล อย่างไรก็ตามการกลับมาอีกครั้งในผลงานชุด Blackout ของบริทนี่ย์หลังจากอัลบั้มนี้แม้จะเป็นอัลบั้มเดียวที่พลาดอันดับหนึ่งบนบิลบอร์ดชาร์ต (ใช่มะ?) อีกทั้งยังเป็นช่วงที่ชีวิตของบริทนี่ย์พบกับจุดตกต่ำถึงขีดสุดแต่ในแง่ของเนื้องานกลับได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ แฟนคลับและคอดนตรีในวงกว้างว่าเป็น มาสเตอร์พีซ ของเธอซึ่งเนื้องานก็นับว่าเป็นการขยับเข้าไปเล่นกับซาวนด์เออร์บันที่ดิบที่สุดแล้วในบรรดาผลงานทั้งหมดทั้งมวลของบริทนี่ย์ที่นับว่านำมาผสานกับดนตรีเต้นรำและอิเล็คโทรนิคก่อนจะระเบิดสู่สาธารณชนผ่านความเป็นเจ้าหญิงเพลงพ็อพของเธอได้อย่างเปี่ยมชั้นเชิงนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้มาพบกับซิงเกิ้ลเปิดตัวและซิงเกิ้ลที่ดีที่สุดของบริทนี่ย์สำหรับเราพร้อมๆกันใน Gimme More(5/5) ซึ่งส่วนตัวเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายทีเดียวนะคะเพราะท่ามกลางข่าวเสียๆหายๆและสภาวะทางจิตใจที่เรียกได้ว่าไม่ปกติดีของเธอบริทนี่ย์กลับสร้างมาสเตอร์พีซออกมาได้บี๊ตพวกซิงเกิ้ลเก่าๆได้ชนิดราบคาบตัวเพลงเป็นงานเต้นรำอิเล็คโทรนิคผสมผสานเออร์บันเทคโนที่แซมกลิ่นของฟั้งค์ แอมเบี้ยนท์และอาร์แอนด์บีคลุกเคล้าได้อย่าลงตัว อาจจะดูเรียบนิ่งและลอยละล่องไปบ้างแต่มีฮุคที่สวยทรงพลังและชัดเจนอีกทั้งเป็นการระเบิดด้านที่มืดหม่นของบริทนี่ย์สู่สาธารณชนได้อย่างเหนือชั้น Piece Of Me (4/5) ที่ฟังแล้วในลูกเล่นดนณีอาจจะปฏิเสธไม่ลงว่ามีอิทธิพลและเงาของมาดอนน่าในยุค Music อยู่จางๆแต่ส่วนตัวคิดว่าบริทนี่ย์สามารถฉีกการนำเสนอมาบนแนวทางของตัวเองได้โดยสิ้นเชิงนับว่าเป็นงานอิเล็คโทรพ็อพเต้นรำแรงๆที่เป็นธีมทริบิ้วท์ให้แก่ตัวของบริทนี่ย์เองรอบด้านทั้งเนื้อหาและการนำเสนอ ตามมาด้วย Break The Ice (5/5) ที่ส่วนตัวเป็นหนึ่งในแทร็คที่โปรดปรานที่สุดตลอดกาลของเธอกับการระเบิดศักยภาพสูงสุดบนดนตรีอิเล็คโทรพ็อพเต้นรำคลับแบงเกอร์จัดจ้านผสานทั้งเทคโนเข้ากับบีทอาร์แอนด์บีพฮอพแรงๆตลอดจนตบเอาความเป็นโซลจากเสียงคอรัสกอสเพลมาแซมเพิ่ลไว้ได้ลงตัว เฟี้ยวฟ้าวมากๆ
) มาที่อัลบั้ม Circus กลับการทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่งอีกครั้งอย่างสง่างามทั้งตัวและอัลบั้มและเพลง Womanizer (3/5) ที่สามารถขึ้นสู่อันดับหนึ่งของบิลบอร์ดชาร์ตได้อีกครั้งหลังจากทิ้งช่วงห่างจาก Baby One More Time นับ10ปีโดยส่วนตัวค่อนข้างเฉยๆกับเพลงนี้นะคือเป็นอิเล็คโทรพ็อพธรรมดาๆแต่บีทเข้มข้นมากชนิดหัวหมุนแต่ส่วนตัวไม่ได้ปลื้มอะไรมากมายเพราะนอกจากจะเหมือน Keeps Gettin Better ของคริสทิน่าที่ล่วงหน้าออกมาก่อนแล้วยังเป็นงานเปิดตัวที่ดิฉันแทบจะเฉยๆที่สุดแล้วของบริทนี่ย์ นี่ดีกว่า Circus (4/5) ไทเทิ่ลแทร็คที่เป็นซิงเกิ้ลตัวถัดมาทรงพลังและเหนือชั้นกว่ากันเยอะกับงานพ็อพเต้นรำที่ผสานอิเล็คโทรนิค บรรยากาศแวดล้อมของธีมละครสัตว์เบรคสวยๆบีทด้วยกีต้าร์อคูสติครวมถึงประโคมบีทอาร์แอนด์บีกระแทกกระทั้นเท่ห์ๆประมาณเจเน็ท เก๋ไก๋เด็ดดวงชนะเลิศ จะว่าไปภาพรวมของอัลบั้มนี้ค่อนข้างจะเป็นเมนทสตรีมพ็อพในแบบ In The Zone แต่ชั้นเชิงดนตรีอ่อนกว่ามาก ล่าสุดกับสตูดิโออัลบั้มชุด Femme Fatale ที่เป็นการหวนกลับมาเล่นกับตลาดเมนทสตรีมที่เป็นอะไรที่พ็อพจ๋าพ็อพแท้ๆพ็อพตล้าด ตลาดอย่างจริงจังเป็นงานอิเล็คโทรพ็อพเต้นรำแกลมความร่วมสมัยของทศวรรษล่าที่สะท้อนวัฒนธรรมดนตรีพ็อพช่วงเวลานี้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบมาครบหมดตั้งแต่ดั๊บสเต็ป ยูโรบีทยันสารพัดสิ่งพึงมีที่ตลาดดนณีพ็อพนิยมเล่นกันในยุคนี้ซึ่ง Hold It Against Me (3/5)และTill The World Ends (4/5) สามารถเป็นตัวอย่างที่ดี
เชื่อว่าขณะนี้เหล่าArmyทั่วโลกคงกำลังตื่นเต้นแถมเค้านท์ดาวน์รอวันที่ 17 กันยายนที่กำลังจะมาถึงนี้พร้อมกันว่าบริทนี่ย์จะมีเซอร์ไพร์สอะไรมาเป็นของขวัญให้แฟนๆ ระหว่างนี้จะรอช้าอะไรเปิด The Essential Britney Spears ชุดนี้แล้วมามีความสุขไปกับเพลงพ็อพของเธอก่อนที่จะมาร่วมตื่นตาตื่นใจไปกับปรากฏการณ์ในการเขย่าอาณาจักรเพลงพ็อพของเจ้าหญิงท่านนี้อีกครั้งไปพร้อมๆกัน