
Britney Spears : In The Zone : 3.5/5
In The Zone เป็นสตูดิโออัลบั้มอันดับสี่ของบริทนีย์ สเปียร์ส ซึ่งสามารถสร้างสถิติให้เธอเป็นศิลปินหญิงคนแรกที่มีสตูดิโออัลบั้มขึ้นเป็นอับดับหนึ่งติดต่อกันถึงสี่อัลบั้ม (ถ้าจำไม่ผิดขึ้นด้วยยอด609,000ก็อปปี้) ได้3แพลตตินัมจากR.I.A.A ด้วยจำนวนยอดขาย3.1ล้านแผ่นเฉพาะในอเมริกา (ถ้าข้อมูลด้านสถิติผิดพลาดช่วยโต้แย้งด้วย)
รูปแบบเพลง:
บริทนีย์สามารถแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของความเป็นศิลปินที่มีศักยภาพยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับงานชุดก่อนๆ โดยที่เธอสามารถฉีกรูปแบบการนำเสนอดนตรีและภาพลักษณ์ของตนเองให้หลากหลาย และมีชั้นเชิงกว่าเดิม เธอก้าวไปอีกระดับจากการทำเพลงพ็อพตามแบบฉบับทีนดิว่าสู่งานดนตรีพ็อพเต้นรำที่ผสานไปด้วยสรรพสำเนียงและกลิ่นอายของดนตรีที่หลากหลายเช่น อาร์แอนด์บี (ซึ่งมีอิทธิพลในหลายแทร็ค) แดนซ์ฮอลล์ แทรนซ์ นีโอ-อิเล็คโทร ดีฟเฮาส์ เทคโน ฮิพฮอพ รวมไปถึงบัลลาด (ทำไมเยอะจังคะ) นอกจากนี้การที่เธอได้ร่วมงานกับโปรดิวซ์เซอร์ระดับแนวหน้าอย่าง อาร์ เคลลี่ มาดอนน่า โมบีย์ เดอะแมทริกซ์และอีกมากมายทำให้ผลผลิตที่ถูกคัดเลือกอยู่ในอัลบั้มค่อนข้างแข็งกล่าวคือมีประสิทธิภาพและแรงพอที่จะตัดขายได้เกือบทุกเพลง
ป.ล. เป็นครั้งแรกที่เธอไม่ได้ร่วมงานกับแม็ก มาร์ติน โปรดิวเซอร์คู่บุยที่สร้างชื่อและความสำเร็จให้เธออย่างมากมายเมื่อสามอัลบั้มที่แล้ว
จุดด้อย :
แม้ว่าอัลบั้มนี้จะสามารถขึ้นอันดับหนึ่งและขายได้มากมายอยู่ (เมื่อเทียบกับหลายๆศิลปิน) ก็จริง แต่เมื่อมาวัดกันโดยใช้บรรทัดฐานความเป็นบริทนีย์โดยส่วนตัวเดี๊ยนคิดว่างานที่มีศักยภาพค่อนข้างพร้อมระดับนี้สมควรที่จะขายได้มากกว่านี้ (ชุดนี้กลับขายได้น้อยที่สุดของเธอ) แต่อันนี้จะโทษที่ตัวบริทก็ไม่ได้เนื่องจากเธอได้รับบาดเจ็บที่เข่าทำให้ไม่สามารถโปรโมตอัลบั้มนี้ได้อย่างเต็มที่ในแบบที่ควรจะเป็น โปรโมตได้ครึ่งๆกลางๆแต่สามารถทำยอดขายในระดับนี้ได้ถือว่าเธอเก๋าพอสมควร (จริงๆแล้วมีโควต้าโปรโมตไว้หกซิงเกิ้ล เสียดายเพลงดีๆที่ไม่ได้โปรโมตจัง)
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบพัฒนาการทางดนตรีระหว่างเธอกับคริสทิน่า อากิเลรา เดี๊ยนว่าอัลบั้มนี้มีย่างก้าวที่คล้ายกับ Stripped ในแง่ของดนตรีที่หลากหลายมากๆเหมือนกับเป็นอัลบั้มทดลองเพื่อหาแนวดนตรีที่เหมาะสมต่อตนเอง ก่อนอื่นขอชมว่าทั้งคู่สามารถทำอัลบั้มที่มีเอกภาพคือหลากหลายแต่ไม่มั่วซั่ว สามารถฟังได้อย่างต่อเนื่อง ไพเราะและที่สำคัญลงตัวเป็นเนื้อเดียวกัน (ลองดูPublic Affair ของอีย์เจสสิคะ) เมื่อมาพิจารณาด้านเนื้อหาคิดว่าคริสทิน่าได้ถ่ายทอดสิ่งที่จรรโลงสังคมและเป็นประโยชน์ควรค่าแก่การฟังในระยะยาวและมีอิทธิพลต่อความรู้สึกมากกว่าในขณะที่บริทนีย์ยังไม่ได้สื่อสิ่งที่เป็นสาระอย่างเป็นจริงเป็นจังนัก เนื้อหาโดยรวมของอัลบั้มเน้นไปถึงเรื่องเซ็กส์ การตะลุยราตรีอะไรพวกนั้นมุขแบบนี้มาดอนน่าทำมาแล้วอย่างเหนือชั้นใน Erotica คิดจะเล่นเรื่องแบบนี้เธอเจอคู่แข่งที่น่ากลัวกว่าเยอะพอตัวนะคะหอกทั้งเจ๊แม่ เจ๊เจเน็ต และสาวฮิพออพอาร์แอนด์บีดาวรุ่งอีกกี่สิบชีวิต พูดกันง่ายๆคือถ้าเทียบกับคนอื่นๆแล้วไม่เห็นจะมีอะไรน่าสนใจ อย่างไรก็ตามบริทนีย์ยังโชคดีที่ยังเหลือบารมีเก่าให้กินอยู่มากจะยังไงถ้าพะยี่ห้อบริทนีย์ สเปียร์สใครๆก็สนใจนะคะ
ป.ล. สำหรับประเด็นเรื่องส่วนตัวของเธอไว้เดี๊ยนจะกล่าวยาวๆในรีวิวอัลบั้มชุดใหม่ของเธอเมื่อมีโอกาสนะคะ
ซิงเกิ้ล :
Me Against The Music Feat. Madonna (4.5/5) ซิงเกิ้ลแรกและถือเป็นไทเทิ่ลแทร็คของอัลบั้ม จริงๆก่อนหน้าเวอร์ชั่นที่จะร่วมงานกับเจ๊เพลงนี้เคยใช้ชื่อว่า Get In The Zone (ซึ่งเป็นชื่อของอัลบั้มก่อนหน้าที่จะวางขายเช่นกัน) ก่อนหน้านี้เพลงที่ถูกวางเป็นซิงเกิ้ลแรกคือ Outrageus เนื่องจากต้นสังกัดเห็นว่ามีความเป็นเออร์บันสูงพอที่จะตอบสนองอุปสงค์ของตลาดเพลงปัจจุบันได้ แต่อีหอกมองการณ์ไกลค่ะเห็นว่าถ้าตัดเพลงนี้ไม่ต้องรอให้เข่าหักเดี๊ยนก็ไม่รอดแน่ก็เลยส่ง Me Against The Music ไปให้มาดอนน่าพิจารณาก่อนที่จะมาบันทึกเสียงใหม่ ด้วยชื่อเสียงและความอัจฉริยะของทั้งคู่ทำให้เพลงอาร์แอนด์บีเต้นรำธรรมดาๆเพลงนี้ดูมีพลังมากขึ้นทีเดียวเมื่อตัวเลือกที่มาร่วมงานด้วยคือสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของอุตสาหกรรมดนตรีสากล โดยส่วนตัวคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดามากๆแน่ค่ะสำหรับการที่ตัวแทนพลังจากสองยุค (ที่มีอิทธิพลสุดๆต่อตลาดเพลงพ็อพ) มาดวลเพลงกัน นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือเพลงนี้เป็นซิงเกิ้ลเปิดตัวเพลงแรกของบริทนีย์ในฐานะ Co-WritingและCo-Producingด้วยนะคะ
ป.ล. ไปๆมาๆดูเหมือนจะเป็นมาดอนน่า ฟีท บริทนีย์มากกว่านะคะเพราะอีเจ๊เล่นแผดเสียงกลบอีหอกสุดพลัง เริ่ดชิงๆ
Toxic (4/5) ซิงเกิ้ลที่สองพ็อพแดนซ์เจือสรรพสำเนียงความเป็นบอลลีวูดด้วยเครื่องสายแบบอินเดียที่เล่นตามแบบฉบับหนังสายลับ (ได้ข่าวว่ามีแรงบันดาลใจมาจากเจมส์ บอนด์สักภาคนี่แหละคะ) ที่น่าประทับใจแทนหอกคือเพลงนี้สามารถขึ้นอันดับ9บนชาร์ตบิลด์บอร์ดได้หลังจากที่เธอไม่ได้มีเพลงฮิตมาถึง2ปี นอกจากนี้ยังชนะรางวัลแกรมมี่เป็นตัวแรกสาขา Best Dance Recording นะคะ (ต๊ายยย เพิ่งรู้นะคะ) แถมโพลจากการสอบถามลูกค้ากว่า66ประเทศของบริษัท โซนี่ อิริคสันเกี่ยวกับเพลงที่โดนใจลูกค้ามากที่สุดจากตัวเลือกเจ็ดแสนกว่าเพลง Toxicของบริทนีย์ได้เป็นอันดับที่สองเชียวนะคะ เป็นรองแค่ We Are The Champion ของ Queen น่ะค่ะ ดีใจด้วยนะเธอ
Everytime (2.5/5) พ็อพบัลลาดโดยใช้เพียโนแสดงลูกเล่นแบบกล่องดนตรีน่ะค่ะ เพลงนี้แต่งที่เยอรมนีโดยที่เธอได้ร่วมแต่งกับ Annette Artan นักร้องแบ็คอัพของเธอ มาดูที่ตัวเพลงเดี๊ยนว่าเพลงนี้มองได้สองแง่นะคะคือถ้าไม่ห่วยไปเลยก็จัดว่าดีในระดับที่รับได้ ขอตบหัวก่อนแล้วกันนะคะที่ว่าห่วยเนื่องจากความรู้สึกส่วนตัวคิดว่าเป็นบัลลาดแห้งๆเนือยๆขาดจุดน่าสนใจซึ่งจริงๆบรืทนีย์ก็ไม่ใช่นักร้องที่มีเสียงทรงพลังอะไรอยู่แล้วฟังแล้วไม่ค่อยรู้สึกถึงอารมณ์ร่วมเท่าไร แต่ถ้ามองในแง่พัฒนาการสังเกตได้ว่าบัลลาดก่อนๆของเธอจะเน้นดนตรีและท่อนคอรัสกลบเสียงเธอเป็น่วนใหญ่แต่เพลงนี้กลับเน้นที่จะโชว์พัฒนาการของการใช้เสียงเธอเป็นหลักโดยที่มีดนตรีเป็นแบ็คกราวนด์บางๆ ซึ่งขอบอกว่าเธอใช้เสียงได้ดีขึ้นจริงขอชมในความกล้าเสี่ยงค่ะ
Outrageous (2/5) จากที่กล่าวไปข้างต้นนะคะว่าเกือบจะได้เป็นซิงเกิ้ลเปิดตัวเสียแล้ว บริทนีย์คิดถูกแล้วค่ะที่ไม่เลือกปล่อยเพลงนี้มาเป็นซิงเกิ้ลแรกโดยส่วนตัวตกใจนะคะที่รู้ว่า อาร์ เคลลี่ย์โปรดิวซ์เพลงนี้เพราะไม่คิดว่าจะทำออกมาได้อย่างขาดชั้นเชิงเสียชื่อขนาดนี้ เหมือนกับอาร์แอนด์บีตลาดๆในปัจจุบันที่หามุขแปลกใหม่ๆไม่ได้ก็ใส่ความเป็นตะวันออกเอาสำเนียงภารตะมาเป็นลูกเล่นไว้ก่อน ส่วนเนื้อเพลง เฮ้อ อย่าให้พูดเลยดีกว่านะคะสัญญากับตัวเองไว้ว่าจะพยายามไม่หยาบคายในงานรีวิวเหมือนแบบก่อนๆแล้ว เอาเป็นว่า เสร่อ นะคะสั้นๆง่ายๆไทยๆดีค่ะ แต่ภาพรวมเมื่อมองในแง่ของความแปลกใหม่แล้วถือว่าเป็นเพลงสูตรสำเร็จที่เพราะนะคะและสามารถขายได้ง่ายๆ ดดยรวมก็ยังถือว่าไม่แย่เกินไปที่จะรับ
เพลงอื่นๆ :
Breath On Me (5) ขอยกให้เพลงนี้เป็นเพลงที่ดีที่สุดของอัลบั้มนะคะ พ็อพแทรนซ์แบบเก๋ๆลอยละล่อง การนำเสนอถือว่าเหนือชั้นและแปลกใหม่ๆมากๆสำหรับบริทนีย์ โดยส่วนตัวฟังแล้วนึกถึง Confide In Me ของ ไคย์ลีย์ มิโน้กน่ะค่ะ อารมณ์เพลงเต้นรำเก๋ๆเซ็กซี่เชิญชวนประมาณนั้น จริงๆแล้วจะถูกตัดโปรโมตเป็นซิงเกิ้ลที่สี่นะคะก่อนที่จะถุกเลือนออกไปเป็นตัวที่ห้าแต่เสียดายที่เธอได้รับบาดเจ็บเสียก่อนเพลงดีๆเพลงนี้เลยอดโปรโมตไปซะอย่างนั้น เห็นว่ามีซิงเกิ้ลขายเฉพาะในญี่ปุ่นกับเยอรมันนี่คะ
(I Got That) Boom Boom Feat. Ying Yang Twins (3/5) เออร์บันพ็อพโดยมีการแซมฮิพฮอพเข้ามาเป็นสีสัน ฟังครั้งแรกชอบมากๆค่ะคิดว่าเป็นเพลงที่สนุกและเก๋มากๆเพลงหนึ่งของเธอเลยทีเดียว แต่เวลาผ่านไปนานๆ (บวกกับทักษะการฟังเพลงแนวเออร์บันพัฒนาขึ้น) คิดว่าเป็นเพลงที่นำเสนอได้ไม่ค่อยมีชั้นเชิงเท่าไรนะคะ ดาดไปเลยก็ว่าได้แต่ถ้าวัดกันที่มาตรฐานของบริทนีย์ขอบอกเลยค่ะว่าเพลงนี้แรงมากๆเพลงหนึ่งเลยทีเดียว และก็เป็นอีกเพลงนึงนะคะที่พลาดจากการถูกตัดเป็นซิงเกิ้ลเคยถูกวางไว้ว่าจะใช้เป็นซิงเกิ้ลปิดอัลบั้ม
Touch Of My Hand (4/5) พ็อพอิเล็คโทรนิคเจือความเป็นเวริลด์มิวสิคเข้ามาด้วยโพรแกรมมิ่งเครื่องสายแบบจีน เป็นอีกหนึ่งเพลงที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางดนตรีที่ดีของบริทนีย์ เพลงนี้เด็ดตรงเนื้อหาที่ว่าด้วยเรื่องของการช่วยตัวเองค่ะ เซ็กซี่มากๆ ต๊ายยยยได้เพลงสำหรับเปิดระหว่างมีเซ็กส์อีกเพลงแล้วค่ะ Showdown (2/5) เพลงเต้นรำที่มีกลิ่นอายคลับแดนซ์แบบในอัลบั้ม Britney น่ะค่ะ แต่ดนตรีแรงกว่ามากๆสรรพสำเนียงการร้องทำให้นึกถึง Boys ไม่ก็ Im Slave 4 U ที่มีลักษณะการร้องกึ่งแร็พและก็กระซิบกระซาบหน่อยๆแต่เพลงนี้มันกระซิบทั้งเพลงเลยนะคะไปฮุคเอามากๆก็ท่อนคอรัส เก๋มั้ยเก๋ค่ะเปิดในฟลอร์นี่เหวี่ยงได้เริ่ดๆเลยแต่ไม่ค่อยถูกใจวิธีการนำเสนอเท่าไรนะคะ The Hook Up (2/5) แหมอัลบั้มนี้เพลงเต้นเยอะจังนะคะนี่เป็นเพลงสนุกๆชวนโยกอีกหนึ่งเพลงค่ะ พ็อพอาร์แอนด์บีที่ประสานเสน่ห์ของจังหวะแบบแดนซ์ฮอลล์เข้าไว้ได้อย่างลงตัวเสียอย่างเดียวที่เสียงร้องและลุพเดิมๆที่วนไปวนมาทั้งเพลงแบบนี้อัลบั้มหน้าทำท่อนคอรัสอย่างเดียวเพลงนึงเต็มๆไปเลยรู้แล้วรู้รอดไปนะคะ Early Morning (4/5) เพลงนี้เป็นเพลงที่เธอร่วมงานกับโมบีย์ค่ะ ตัวเพลงออกมาเป็นเพลงเต้นรำแบบเทคโนดีพเฮาส์เก๋ๆที่โมบีย์ชอบทำแหละค่ะ (แต่ของโมบีย์ดีกว่านี้มาก) โดยส่วนตัวชอบลักษณะการร้องของบริทเพลงนี้นะคะดูล้ำอวกาศๆดี หลุดลอยไปกับโลกส่วนตัวของเธอนะคะ
Brave New Girl (2/5) ความพยายามของบริทนีย์ที่จะทำเพลงแบบมาดอนน่าหรือเจเน็ตนะคะ โดยส่วนตัวคิดว่าเพลงนี้มีองค์ประกอบที่หลากหลายดี แต่มันมากเกินไปจนนำเสนออกมาได้ค่อนข้างมั่วนะคะกวาดมาหมดตั้งแต่พ็อพซินธ์กับบีทแบบอัพเทมโปยุค80 การวางโครงสร้างดนตรีแบบนีโอ-อิเล็คโทรคคุมคู่ไปกับพ็อพแดนซ์ การร้องแบบทั้งร้อง ทั้งแร็พ ทั้งผ่านเครื่องแปลงเสียง โอ๊ย สนุกสนาน ว่างๆยัดทุกแนวบนโลกเข้าไปในเพลงๆเดียวให้หมดและตั้งคำถามชิงบัตรคอนเสิร์ตเลยนะคะ
Shadow (3/5) แม้ว่าจะดูฉาบฉวยและสูตรสำเร็จไปนิดนะคะ แต่ขอชมบริทนีย์ที่สามารถทำบัลลาดที่มีชั้นเชิงออกมาได้ น่าประทับใจที่เธอสามารถเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างในเพลงนี้เข้าด้วยกันและนำเสนอออกมาได้อย่างดี ที่ชอบมากๆคือลีลาการใช้น้ำเสียงที่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาและสอดรับกับภาคดนตรีอย่างดี ที่สำคัญคือเธอสามารถเข้าถึงอารมณ์และสื่อสิ่งที่ต้องการออกมาเป็นรูปธรรมได้ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของศิลปินน่ะค่ะ
โบนัสแทร็คที่แถมมาเดี๊ยนไม่ขอพูดถึงและไม่นำมาตัดเป็นคะแนนนะคะ
สรุป :
นี่เป็นอัลบั้มที่ดีที่สุดของเธอรองจาก Baby One More Time แม้ว่านี่อาจจะไม่ใช่อัลบั้มที่ดีที่สุดสำหรับใครหลายๆคน แต่ก็เป็นอัลบั้มที่ทำให้เราเห้นในความสร้างสรรและพัฒนาการของเธอ ไม่ว่าใครจะมองเธออย่างไรอย่างน้อยบริทนีย์ก็ไม่เคยให้อัลบั้มที่ต่ำกว่ามาตรฐานแก่ผู้ฟัง ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งในสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าเธอคือศิลปินที่ดีเพียงแต่ถูกมองข้ามข้อนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
_________________
